“ศักดิ์สยาม” สั่งทางหลวงปรับแผนโครงการพัฒนาคูน้ำริมถ.วิภาวดี หวั่นซ้ำเติมรถติด

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2562 เวลา 10.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ให้การต้อนรับ

โดยกรมทางหลวงรายงานว่า ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบนถนนวิภาวดีรังสิตเชื่อมโยงถนนพหลโยธินระหว่าง กม.4+490 – กม.28+700 แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.2561 สิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2562 โดยดำเนินงานจัดหา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 18 ตัว งานดันท่อลอด 8 จุด งานลอกท่อดูดเลน 73,965 เมตร งานขยายท่อทางเชื่อม 8 แห่ง และงานปรับปรุงผิวจราจร 126,921 ตารางเมตร ระหว่าง กม.11+300 – กม.15+100 (ฝั่งขาออก) ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างส่งมอบงาน

ส่วนระยะที่ 2 มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ กม.4+990 – กม.31+475 ระยะทาง 26.485 กม. วงเงินก่อสร้างประมาณ 1,588 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่แยกดินแดง – คลองรังสิตประยูรศักดิ์ แบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.5+500 – กม.10+700 ใช้เวลาก่อสร้าง 900 วัน ตอนที่ 2 ระหว่าง กม.10+700 – กม.28+ 030 ใช้เวลาฯ 900 วัน และตอนที่ 3 ระหว่าง กม.28+030 – กม.30+300 ใช้เวลาฯ 720 วัน

เนื้องานประกอบด้วยงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ทางจักรยาน และงานดันท่อลอด ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจพื้นที่ ซึ่งสำนักงานทางหลวงที่ 13 ได้วางแผนดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง เช่น ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง และการกันพื้นที่ก่อสร้างที่ชัดเจน

เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมบนถนนวิภาวดีรังสิต เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตที่ระบายน้ำลงสู่คลองบางเขน คลองลาดพร้าว และคลองบางซื่อ ผ่านอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

และลดปัญาหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ บรรเทาความเดือดร้อนและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนชนผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว เนื่องจากถนนวิภาวดีฯ มีการจราจร 200,000 คันต่อวัน อีกทั้งมีปริมาณการจราจรบนดอนเมืองโทลเวย์อีก 100,000 คันต่อวัน ส่งผลให้การจราจรหนาแน่น

ทั้งนี้นายศักดิ์สยามได้สั่งการให้กรมทางหลวงบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยยึดต้นแบบการแก้ไขปัญหาจากถนนพระราม 2

เช่น การวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค การเปิดหน้างานเท่าที่จำเป็น และการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากมีปัญหาด้านการประสานงานให้รายงานให้ทราบ เพื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ จะได้ช่วยแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ให้สำรวจสภาพถนนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ถนนแจ้งวัฒนะที่ทราบว่ากำลังมีแผนก่อสร้าง นครราชสีมา และหาดใหญ่ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

“ท่านนายกรัฐมนตรีฝากมาให้คมนาคมดูโครงการก่อสร้างที่ใช้เวลา 700 วัน 900 วัน ขอให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความพร้อมและเร่งรัดงานก่อสร้างให้เสร็จตามแผนหรือเสร็จเร็วยิ่งดี เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน”

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า ขอให้นำยางพารามามาใช้ผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกทางถนนหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราเช่น แบริเออร์ และให้พิจารณาวางแผนดูแลสภาพภูมิทัศน์ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ

รวมถึงให้พิจารณาแนวทางป้องกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์มาใช้ทางเท้า ทางจักรยาน อีกทั้งการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกรมทางหลวง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงให้มีสายฮอตไลน์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน

จากนั้นนายศักดิ์สยามได้ลงพื้นที่ตรวจโครงการฯ ระยะที่ 2 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระยะที่ 1 บริเวณอาคารสูบน้ำวิภาวดีฯ กม.8+635 พร้อมกล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ ของ ทล. ในครั้งนี้ เพื่อระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนวิภาวดีฯ หากปริมาณฝนตกไม่เกิน 100 มิลลิเมตร จะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่หากเกินกว่า 100 มิลลิเมตร จะสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้นไม่เกิน 2 ชั่วโมง