รื้อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขุมทรัพย์เมกะโปรเจ็กต์ 3 ล้านล้าน

พลันที่รัฐบาลบิ๊กตู่ 2 เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐมนตรีทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ต่างแข่งกันโชว์ความฟิต สปีดทำงานตั้งแต่หัววัน

นอกเหนือจากงานประจำ งานนโยบายแล้ว การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของรัฐวิสาหกิจเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนผลักดัน โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจแสดงสปิริต

และแม้เป็นเรื่องปกติที่หลังการเมืองปรับเปลี่ยนมักตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนตัวคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจด้วยเหตุผลเพื่อให้ได้คนที่สามารถไว้วางใจและสนองนโยบายในการทำงาน ขณะที่กรรมการรายเดิมที่นั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีทั้งที่สมัครใจลาออก ถูกปลดออก

แต่การเมืองผลัดใบรอบนี้การปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกำลังถูกจับตามอง หลังฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้แสดงสปิริต ขณะที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจบางแห่งเริ่มทยอยยื่นลาออกเปิดทางให้มีการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่

เสี่ยโอ๋ใช้ KPI วัดผลงาน 3 เดือน

โฟกัสไปที่รัฐวิสาหกิจเกรดเอ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวง คมนาคม กระทรวงเกรดพรีเมี่ยม กุมเม็ดเงินงบประมาณปีละหลักแสนล้านบาท และเมกะโปรเจ็กต์มูลค่าร่วม 3 ล้านล้านบาท ใต้ปีก “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จาก “พรรคภูมิใจไทย” ราชรถ 1 มี “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” จาก “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “ถาวร เสนเนียม” จาก “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยมี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล จากเดิมอยู่ในมือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เข้ามาได้ไม่ถึงเดือน แต่ “เสี่ยโอ๋” ขยับตารางงานทันที มี KPI ผู้บริหารหน่วยงานคลอดผลงานใน 1-3 เดือน เตรียมจัดโผแต่งตั้งบิ๊กคมนาคม จัดแถวบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 15 แห่งในสังกัด

บอร์ด กทท.ยื่นใบลา

“ศักดิ์สยาม” กล่าวว่า การคัดเลือกบอร์ดรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการคัดสรรตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดแนวทาง นำหลักเกณฑ์และความรู้ที่จำเป็น (skill matrix) มาประกอบการสรรหา

“ทุกบอร์ดที่ว่างให้ปลัดคมนาคมเร่งรีบดำเนินการ ยังไม่สามารถเสนอได้ทันที ต้องสรรหาและถามไปยังคลังด้วยว่าจะยืนยันคนเดิมหรือแต่งตั้งมาใหม่ เพราะบางตำแหน่งเป็นผู้แทนเฉพาะ ที่จะเข้าสู่กระบวนสรรหาได้เลย มีบอร์ด ขสมก.ที่ว่างอยู่ ล่าสุดมีการท่าเรือฯ และวิทยุการบินฯที่ยื่นใบลาออก ส่วน ทอท. การรถไฟฯ การบินไทย การทางพิเศษฯ รฟม.ก็ยังไม่ได้คุยกัน”

ในส่วนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ประธานบอร์ดยื่นใบลาออก 5 ส.ค.ที่ผ่านมา

เมกะโปรเจ็กต์จ่อคิวประมูลเพียบ

เมกะโปรเจ็กต์ของ กทท. อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่ากว่า 8.4 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ชนะประมูล จะเซ็นสัญญาเดือน ต.ค.นี้กับโครงการเนรมิตที่ดินคลองเตย 58 ไร่ เป็นสมาร์ทคอมมิวนิตี้ สร้างอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคาร รวม 6,144 ยูนิต วงเงิน 8,417 ล้านบาท

ขณะที่ “ขสมก.” ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูหนี้กว่า 1 แสนล้าน มีแผนซื้อรถเมล์ใหม่ 2,188 คัน วงเงิน 19,090 ล้านบาท นำที่ดินอู่บางเขน-มีนบุรีเปิดประมูล PPP ให้เอกชนพัฒนาสร้างรายได้

ด้าน “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ทาง “สุรงค์ บูลกุล” ประธานบอร์ดมีภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จ มีเซ็นสัญญาทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 2.9 หมื่นล้านบาท ที่ได้ผู้ชนะไปแล้วทั้ง 4 สัญญา รอเคลียร์ปมร้องเรียน รวมถึงขยายสัญญาทางด่วนให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อยุติข้อพิพาท 59,000 ล้านบาท

ฝั่ง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” มี “ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย” นั่งเป็นประธาน คาดว่าน่าจะรอให้การติดตั้งระบบตั๋วร่วม EMV ที่กำลังผลักดันให้กรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ขณะที่โครงการประมูลยังมีสายสีส้มที่จะเปิด PPP ทั้งก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และเดินรถตลอดเส้นทางถึงมีนบุรี วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท และสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะอีกกว่า 1 แสนล้านบาท

ประธานบอร์ดบินไทย-ทอท.หนึบ

ไฮไลต์อยู่ที่รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แม้ขาดทุนแต่ยังหอมหวนสำหรับพรรคการเมือง อย่าง “การบินไทย” มีโครงการที่ถูกจ้องตาเป็นมัน ซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ 1.5 แสนล้านบาท ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่ถึงฝั่งฝัน ทำให้ชื่อ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ส่งมานั่งเป็นประธานยังเหนียวหนึบ ท่ามกลางข่าวลือ “คมนาคม-คลัง” งัดข้อหลัง “ศักดิ์สยาม” ส่งสัญญาณจะโละบอร์ด

ด้าน “ทอท.-ท่าอากาศยานไทย” ที่มีกำไรร่วม 2 หมื่นล้าน “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง นั่งเป็นประธานบอร์ด คาดว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลังปิดจ็อบสัมปทานดิวตี้ฟรี และรีเทล 4 สนามบินคือ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ มีงานใหญ่รอ ทั้งขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 4.2 หมื่นล้านบาท รันเวย์ที่ 3 วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท จะประมูลเร็ว ๆ นี้ รวมถึงสร้างสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 รวม 1.3 แสนล้านบาท

บอร์ดรถไฟต้องรอลุ้น

ด้าน “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ซึ่ง “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธาน ด้วยคำสั่ง ม.44 ยังลุ้นว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะแม้ “ร.ฟ.ท.” มีหนี้เก่า-หนี้ใหม่เฉียด 2 แสนล้านบาท แต่ดึงดูดนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย

เนื่องจากเป็นองค์กรที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่ดินที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ (noncore) ทั้งประเทศกว่า 39,419 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท ทำเลเด่นที่เตรียมนำมาเปิดให้เอกชนพัฒนา เช่น ย่านสถานีบางซื่อ ย่าน กม.11 มักกะสัน และสถานีแม่น้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดซื้อหัวรถจักรจำนวน 50 คัน 6,000 ล้านบาท ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ รถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง 11,494.271 ล้านบาท รถไฟทางคู่ เฟส 2 วงเงิน 376,531 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กทม.-โคราช) รอประมูล 106,575 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรอเซ็นสัญญากลุ่ม ซี.พี.ในเดือน ส.ค.นี้ 224,544 ล้านบาท ประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง มีรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา รวม 23,492 ล้านบาท แผนจะเปลี่ยนการเดินรถรถไฟทาง 1 เมตร จากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นระบบไฟฟ้าใน 4 เส้นทาง วงเงินรวม 100,907 ล้านบาท

ไม่เกิน 3 เดือนจากนี้ รู้หัว รู้ก้อย ว่าใครจะอยู่ ใครจะไป