บีบBEMลดค่าทางด่วน10-15บาท ชง‘ศักดิ์สยาม’ ชี้ขาด 3 ทางเลือกปมพิพาท 27 ส.ค.

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน สายบางปะอิน-ปากเกร็ด ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บจ.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) ผู้รับสัมปทาน มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อสรุปข้อเสนอแนะต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม วันที่ 27 ส.ค.นี้

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ

แนวทางเลือกที่จะเสนอ คือ 1.เดินหน้าตามที่ กทพ.ได้เจรจามีข้อยุติ และคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.อนุมัติ โดยขยายระยะเวลาสัมปทาน 3 โครงการ 30 ปี แยกเป็น ทางด่วนขั้นที่ 2 เดิมสิ้นสุด 1 มี.ค. 2563 เป็น มี.ค. 2593 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี จากเดิม เม.ย. 2570 เป็น เม.ย. 2600 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิม ก.ย. 2569 เป็น ก.ย. 2599 ภายใต้เงื่อนไขโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2  (double deck) ที่ BEM ลงทุน 31,000 ล้านบาท จากด่านประชาชื่น-อโศก 17 กม. ต้องผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใน 2 ปี หากไม่ผ่านอายุสัมปทานจะเหลือ 15 ปี 8 เดือน ส่วนค่าผ่านทางปรับอัตราคงที่ 10 บาท ทุก 10 ปี ซึ่ง กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้ 60% BEM 40%

2.หาแนวทางลดระยะเวลาสัมปทานจาก 30 ปี เช่น เหลือ 15 ปี 20 ปี

3.หาแนวทางอื่น ๆ ในการลดค่าผ่านทางในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 อีก 10-15 บาท จากปัจจุบัน 50 บาท เหลือ 35-40 บาท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ตามนโยบาย รมว.คมนาคม ที่ให้โจทย์เจรจา BEM เพิ่ม ซึ่งแนวทางคือให้พิจารณาเปลี่ยนการลงทุนสร้างด่วนชั้นที่ 2 วงเงิน 31,000 ล้านบาท เป็นการลดค่าผ่านทางให้ประชาชนแทน โดยไม่แตะเรื่องสัญญา แต่จะลดส่วนแบ่งรายได้ของ กทพ. จาก 60% เหลือ 40% โดย BEM จะได้รับการขยายเวลาสัมปทานเป็นการชดเชยทั้ง 3 โครงการ อยู่ที่การเจรจา จะเป็น 15 ปี 8 เดือน 20 ปี หรือ 30 ปี

“BEM ได้ขยายสัมปทานทางด่วน 3 สัญญาแน่ แต่เมื่อมีโจทย์ใหม่ นโยบายลดค่าผ่านทางเข้ามาเพิ่ม การเจรจาระยะเวลาเลยยังไม่นิ่ง”

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กทพ.เสนอแนวทางการเจรจา BEM ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 ต.ค. 2561 ให้หาแนวทางบรรเทาความเสียหายของรัฐด้วยการเจรจาต่อรอง มอบให้ที่ปรึกษาและ กทพ.ทำแนวทางเลือกอื่นเพิ่มเติม เช่น ลดเวลาสัมปทาน แยกขยายสัญญาเป็นรายสัญญา กับรวมทั้ง 3 สัญญาในระยะเวลาที่เท่ากัน จะประชุมวันที่ 16 ส.ค. น่าจะได้ข้อสรุปเพื่อรายงานต่อ รมว.คมนาคม โดยให้ กทพ.พิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน ตอบคำถามของรัฐและประชาชนได้

“รับฟังผลเจรจาของ กทพ.ทั้งตัวเลขก็มีที่มาที่ไป มีหลักการคิด รักษาผลประโยชน์เป็นหลัก โดย กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางเท่าเดิม 60% แก้ปัญหาการปรับค่าผ่านทาง จากปัจจุบันปรับตามดัชนีผู้บริโภค และปรับเศษไม่ตรงกันจนเกิดเป็นข้อพิพาทตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะให้ปรับทุก 10 ปี อัตราคงที่ 10 บาท และสามารถเคลียร์ข้อพิพาทที่มีแนวโน้มที่ผลตัดสินจะออกมาในลักษณะเดียวกันได้หมด”