BEM มั่นใจได้ขยายสัมปทาน 3 ทางด่วนถึง ต.ค.ปี’78 แลกยุติค่าเบี้ยวแสนล้าน

หลังจากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดเชยรายได้ ช่วงปี 2542-2543 ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) บริษัทลูกของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากทางแข่งขันกรณีก่อสร้าง ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท ซึ่งคดีนี้จะมีผลต่อเนื่องจนจบสัมปทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดในปี 2569

ส่งผลให้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ครม.มีมติให้ กทพ.เจรจายุติข้อพิพาทกับ BEM เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐโดยเร็วที่สุด จนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 กทพ. และ BEM ได้บรรลุข้อตกลงยุติข้อพิพาท

โดย กทพ.จะแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเพื่อขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 30 ปี และ BEM ต้องยุติข้อพิพาททั้งหมดกว่า 1.37 แสนล้านบาท และลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และแก้ปัญหาจุดตัดจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 อีก 31,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาจราจร

ปัจจุบันการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 และสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร BEM เปิดเผยว่า ข้อพิพาทที่มีกับ กทพ.เป็นเรื่องเกิดมานานมากกว่า 25 ปี เกิดจากการที่ กทพ.ในอดีตทำผิดสัญญาทำให้บริษัทได้รับความเดือดร้อน ที่ผ่านมาได้พยายามเจรจากันมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ

ทุกเรื่องเราชนะที่อนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ กทพ.ก็ไม่ยอมรับจนเรื่องไปถึงชั้นศาลปกครอง ดอกเบี้ยก็วิ่งไปทุกวัน อย่างไรก็ตามครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา ซึ่งทางบริษัทก็พร้อมร่วมมือเต็มที่ เชื่อว่าถ้าสู้คดีกันต่อ เราก็มีโอกาสชนะสูงมาก สุดท้ายเราชนะก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อประเทศชาติ รัฐก็เสียหาย ประชาชนเดือดร้อน แต่ถ้ายุติได้ รัฐไม่เสียหาย ประชาชนได้ประโยชน์ เราได้รับการเยียวยาพอสมควรได้ทำธุรกิจต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย

“ผลการเจรจาครั้งนี้ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐ และ กทพ.เป็นอย่างมาก ถือว่าไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้น ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์จากทางด่วนที่ดีขึ้น ค่าผ่านทางก็ไม่แพง ส่วนบริษัทก็ได้รับการชดเชยและได้ดำเนินธุรกิจที่มีความถนัดต่อไป ทุกฝ่ายจึงเชื่อมั่นว่าการขยายสัมปทานยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด”

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร กล่าวเสริมว่า ข้อพิพาทที่มีระหว่างบริษัท กับ กทพ. จำนน 17 คดี เกิดจาก 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องผลกระทบจากทางแข่งขัน และเรื่องการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา ซึ่งเรื่องทางแข่งขันมีผลกระทบกับสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตั้งแต่ปี 2542 จนสิ้นสุดสัญญาในปี 2569 มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 78,908 ล้านบาท

ขณะที่ข้อพิพาทการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญาเรื่องนี้จะเกิดทุกๆ 5 ปี จนจบสัมปทานทั้ง 3 สัญญา มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 เท่ากับ 56,034 ล้านบาทเมื่อรวมกับเรื่องอื่นๆ มูลค่าข้อพิพาทถึงสิ้นปี 2561 รวมเท่ากับ 137,517 ล้านบาท หาก กทพ.ต่อสู้ทุกคดีจนถึงที่สุด ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นร่วม 3 แสนล้านบาท เพราะสัญญาสัมปทานยังไม่จบ มีเงินต้น-ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกมาก

“ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ใช่ค่าโง่ เพราะไม่ได้เกิดจากการทำสัญญาที่ผิดพลาดหรือมีการทุจริตแต่อย่างใด สัญญาสัมปทานก็เป็นสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งเรื่องทางแข่งขันและการปรับค่าผ่านทางเป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ รัฐอาจมีความจำเป็นและเหตุผลในการสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไปรองรับเมืองที่จะขยายออกไป หรือเกรงว่าการขึ้นค่าผ่านทางจะกระทบประชาชน แต่เมื่อเกิดผลกระทบกับบริษัทแล้ว กทพ.ไม่ได้ชดเชยตามสัญญา ก็เกิดการผิดสัญญาขึ้นนำไปสู่การพิพาทในท้ายที่สุด กรณีเช่นนี้น่าจะถือเป็นค่าเบี้ยวมากกว่าค่าโง่ เพราะไม่มีใครโง่หรือฉลาดในเรื่องนี้”

นายพงษ์สฤษดิ์ เปิดเผยว่า ในการเจรจา กทพ.ขอนำข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วมาเจรจาเท่านั้น โดยมูลค่าข้อพิพาททั้งหมดระหว่าง กทพ.และ BEM ยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ต่ำกว่ามูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขัน (ณ สิ้นปี2561) 78,908 ล้านบาท และต่ำกว่าเงินต้นของมูลค่าข้อพิพาทเรื่องทางแข่งขันจนจบสัมปทาน (ปี2569) ประมาณ 100,000 ล้านบาท

โดยถือว่าเรื่องอื่นๆ ที่ฟ้องร้องอยู่และจะเกิดขึ้นในอนาคตจนจบสัมปทานบริษัทยุติทั้งหมด ทั้งที่ในปัจจุบันมีหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เช่น คดีไม่ปรับค่าผ่านทาง ทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2546 และคดีชดเชยรายได้นับจากวันเปิดใช้งานพื้นที่ส่วนแรกของทางด่วนขั้นที่ 2

กทพ.จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC ส่วน D และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดออกไป สัญญาละ 30 ปีแทนการจ่ายเงิน ส่วนบริษัทมีหน้าที่ให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนเดิมทั้ง 3 สายทาง และแก้ไขปัญหาจราจรโดยลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) จากงามวงศ์วานถึงพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ก่อสร้างช่อง Bypass แก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุด ขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุด รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้จะไม่เก็บค่าผ่านทางการใช้ Double Deck เพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และบริษัทต้องรับผิดชอบความเสี่ยงในรายได้จากปริมาณการใช้รถที่ต้องลดลงจากนโยบายส่งเสริมระบบขนส่งทางราง ของรัฐบาล โดยต้องแบ่งรายได้ให้ กทพ.ตามสัญญา

แต่เนื่องจากการก่อสร้าง Double Deck ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบก่อน กทพ.จึงแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมดจะขยายสัญญา 3 ทางด่วนจนถึง ต.ค.2578 พร้อมกัน

ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน ABC จะขยายเวลาสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน จากวันที่ 1 มี.ค.2563-วันที่ 31 ต.ค.2578, ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ได้ขยายระยะเวลา 7 ปี จากวันที่ 22 เม.ย.2570-วันที่ 31ต.ค.2578 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ได้ขยายระยะเวลา 8 ปี จากวันที่ 27 ก.ย.2569-วันที่ 31 ต.ค.2578

และส่วนที่ 2 จะลงนามต่อเมื่อการก่อสร้าง Double Deck หากได้รับอนุมัติโครงการจะขยายสัญญาทั้ง 3 โครงการออกไปจนครบ 30 ปี ซึ่ง กทพ.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA ) ใน 2 ปี แต่ถ้ายังไม่ได้รับอนุมัติจะต้องเจรจากับ กทพ.ใหม่ เช่น ขยายเวลาทำ EIA ออกไป เป็นต้น

นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวอีกว่า การเจรจายังมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น BEM ต้องจ้างพนักงาน กทพ.ต่อจนกว่าจะเกษียณอายุหรือหมดหน้าที่, ยกเลิกการได้รับสิทธิพิจารณาก่อนในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนยกเว้นสิทธิตามสัญญาเดิม และ BEM มีสิทธิพัฒนาเฉพาะโครงสร้างทางด่วนที่ BEM บำรุงรักษาโดยจ่ายค่าเช่าให้กทพ.ตามอัตราที่ กทพ.กำหนด

BEM จะปรับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางให้รองรับระบบตั๋วร่วม, ยกเลิกข้อสัญญาการชดเชยรายได้จากกรณีทางแข่งขัน, ยกเลิกการได้รับสิทธิพิจารณาก่อนในการดำเนินงานส่วนต่อขยาย ยกเว้นตามสิทธิตามสัญญาเดิมของส่วน D, BEM จะลงทุนก่อสร้างขยายช่องจราจรทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด เมื่อมีการจราจรถึงตามที่กำหนดในสัญญา, BEM จะลงทุน 2,000 ล้านบาท ก่อสร้างทางขึ้น-ทางลงด่วนขั้นที่ 2 บริเวณสถานีกลางบางซื่อโดย กทพ.เป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและจะลดราคาค่าผ่านทางที่ด่านอาจณรงค์เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน

“บริษัทเชื่อว่า กทพ.และกระทรวงคมนาคมคงจะเร่งสรุปเรื่องนี้ เสนอ ครม.เพราะเป็นประโยชน์สูงสุด และผ่านความเห็นชอบของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนแล้ว และเป็นแนวทางทางออกดีที่สุดกว่าแนวทางอื่นแล้ว เพราะเราใช้เวลาเจรจากันมาตั้งแต่ ต.ค.ปีที่แล้ว ถึงขณะนี้จะ 1 ปีแล้ว”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐมีข้อเสนอใหม่ เช่น ตัดเรื่องการลงทุนทางด่วนชั้นที่ 2 ออก เพราะมองว่าอาจจะยังเป็นโครงการที่ยังไม่แน่ไม่นอนสูง โดยเปลี่ยนเป็นลดลงค่าผ่านทางแทน นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า คนละเรื่องกันเลย ซึ่งทางด่วนชั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการลงทุนและการจะเปลี่ยนเป็นการเจรจารูปแบบอื่นเป็นไปได้ยาก

และการที่กระทรวงคมนาคมมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้อีกก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการรีวิวเพื่อความรอบคอบ คงไม่ได้มารื้อการเจรจาใหม่ ซึ่งเราคิดว่าการสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เป็นทางออกที่ดีเพราะพื้นที่จราจรบนทวงด่วนในเมืองมีข้อจำกัดและช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ถึง 70-80% ปัจจุบันปริมาณการจราจรบนทางด่วนอยู่ที่ 1 ล้านเที่ยวคัน/วัน เพิ่มขึ้นปีละ 3-4%