การท่าเรือ MOU กฤษณาปัทนัม ตีตลาดภารตะ ปั้น “ท่าเรือระนอง” ฮับขนส่งสินค้า BIMSTEC

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)​ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)​ กับ Navayuga Container Terminal ท่าเรือกฤษณาปัทนัม ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือกลุ่มประเทศ BIMSTEC (บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฏาน)​

เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างท่าเรือในลักษณะ Port–to–Port Cooperation เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างท่าเรือทั้งสองแห่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางด้านการบริหารจัดการท่าเรือ การปฏิบัติการภายในท่าเรือ ส่งเสริมงานด้านการตลาดการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าเรือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารการเชื่อมโยงเครือข่าย ของท่าเรือ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่าเรือ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือกัน 3 ปี (2562-2565) แต่ในรายละเอียดจะต้องมีการ Working Group ร่วมกันก่อน

ร่นเวลาเหลือ7วัน

“ท่าเรือกฤษณาปัทนัมมีศักยภาพรองรับตู้สินค้าได้ถึงปีละ 1.2 ล้านTEUs/ปี และก่อนหน้านี้ก็ได้ขนส่งสินค้ามาที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้วประมาณปีละ 500,000 TEUs/ปี ซี่งเฉพาะกับประเทศอินเดียในปี2561 ไทยมีตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ 200,000ล้านบาท ทีนี้เรามองว่าโครงการท่าเรือระนองกำลังพัฒนาอยู่ กทท.จึงตั้งใจที่จะให้จำนวนตู้สินค้าทั้งหมดมาลงที่ท่าเรือระนองแทน เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านการขนส่ง (Logistics Cost) ของท่าเรือกฤษณาปัทนัมด้วย ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าลดลงจากเดิมต้องใช้เวลา 15 วันเหลือเพียง 7 วัน”

ปัจจุบัน ศักยภาพของท่าเรือระนองสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 75,000 TEUs/ปี คาดการณ์รายได้ของปีนี้อยู่ที่ 29-30 ล้านบาท สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือระนองจะเริ่มได้ประมาณปี 2563 ในระยะแรกจะรองรับได้ 300,000 TEUs/ปี และหากพัฒนาได้เต็มเฟสจะรองรับตู้สินค้าได้สูงสุด 500,000 TEUs/ปี ตามเป้าหมาย

เปิดแผนพัฒนาท่าเรือระนอง

ด้านเรือโทดร.ชำนาญ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท. เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า แผนพัฒนาท่าเรือระนอง พื้นที่ 315 ไร่ ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างรอเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกทท.(บอร์ดท่าเรือ) อนุมัติงบเพื่อจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาในรายละเอียด (Detail Design) พร้อมทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) วงเงิน 55 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษา 1 ปี

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือระนอง มีงบประมาณโครงการรวม 5,400 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการระหว่าง 2562-2565 เบื้องต้น แบ่งเป็น 2 เฟสคือ เฟสแรก ก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งที่ 3 ความยาวท่า 180 เมตร กว้าง 30 เมตร พื้นที่ 5,400 ตารางเมตร เงินลงทุน 378 ล้านบาท และงานถมทะเลสร้างลานวางตู้สินค้าบริเวณหลังท่าเทียบเรือที่ 1 และ 2 พื้นที่รวม 42,000 ตารางเมตร เงินลงทุน 1,890 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2563 เมื่อเฟสแรกเสร็จจะเพิ่มศักยภาพท่าเรือระนองให้รองรับตู้สินค้าได้ 288,000 TEUs/ปี

ขณะที่เฟสที่ 2 มีโครงการเดียวคือ การถมทะเลเพื่อทำลานวางตู้สินค้าบริเวณหลังท่าเทียบเรือ 3 พื้นที่ 33,000 ตารางเมตร เงินลงทุน 1,485 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างหลังเฟสแรกก่อสร้างเสร็จ คาดว่าประมาณต้นปี 2566 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อทั้งสองเฟสก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะรองรับตู้สินค้าได้ประมาณ 528,000 TEUs/ปี