รอไม่ไหว! “ศักดิ์สยาม” ทะลวงงบค้างท่อ 3 หมื่นล้าน โยกค่าเวนคืนบางใหญ่ 5 พันล้านโปะโครงการถนน

เวนคืนบางใหญ่ 5,000 ล้านฉุดเป้าทะลวงงบ 62 เหลือ 75% “ศักดิ์สยาม”ชงโยกจ่ายอุทธรณ์เวนคืนโครงการอื่น แนะรฟม.แบ่งเฟสสร้างสายสีส้มลดภาระงบผูกพัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลการติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบปะมาณปี 2562 ปัจจุบันมีสถานะรอเบิกจ่ายอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกกระทรวงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 ส.ค) ให้ปรับแผนนำงบประมาณค้างท่อมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม มีโครงการใหญ่ที่ยังค้างท่ออยู่ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของกรมทางหลวง (ทล.) ปัจจุบันยังไม่ได้นำไปใช้ เนื่องจากครม.ยังไม่ได้อนุมัติกรอบวงเงินเวนคืนเพิ่มเติมจากเดิม 5,000 ล้านบาทเป็น 8,000 ล้านบาท

จึงได้ให้ทล.เอาไปปรึกษาสำนักงบประมาณว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ในแผนงานส่วนอื่นได้หรือไม่ อาจจะนำไปใช้ในค่าอุทธรณ์เวนคืนก่อน 2,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 3,000 ล้านบาทก็จะนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงทางสายอื่นและเพิ่มความปลอดภัยในถนนหนทางต่างๆ

2.โครงการเวนคืนศูนย์ขนส่งสินค้าจ.นครพนม วงเงิน 200 ล้านบาทของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งยังไม่ได้เบิกจ่าย เพราะยังรอพรฎ.เวนคืนออกประกาศใช้ และโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 7 เส้นทาง วงเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ยังไม่ได้อนุมัติมา จึงยังไม่สามารถจ้างที่ปรึกษาได้ ก็ให้แต่ละหน่วยไปศึกษาเช่กันว่าจะโยกมาใช้จ่ายในงานส่วนอื่นได้หรือไม่

“เป้าที่รัฐบาลตั้งไว้คือในเดือนก.ย.ต้องเบิกจ่าย 100% ขณะนี้วงเงินงบประมาณรวม 170,000 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 65% และในเดือนก.ย.นี้หลังปรับแผนการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วตั้งเป้าเบิกจ่ายที่ 75% ที่ไม่ถึง 100% เพราะติดการเบิกจ่ายเวนคืนโครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี” นายศักดิ์สยามระบุ

นอกจากนี้นายศํกดิ์สยามยังกล่าวว่า ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปศึกษารูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 27 กม. รวมงานวางระบบเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กม.(บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มูลค่าการลงทุน 122,041 ล้านบาทใหม่ เพราะเงินผูกพันงบประมาณมีไม่พอ จึงให้ไปศึกษาว่าในงานก่อสร้างโยธาจะแบ่งเป็นตอนๆรูปแบบเดียวกับมอเตอร์เวย์ได้หรือไม่ เพราะไหนๆก็แบ่งโครงการเป็นฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกแล้ว และจะได้ขับเคลื่อนโครงการได้รวดเร็วและประหยัดงบประมาณ

ส่วนงานระบบเดินรถ ก็แยกออกมาก่อน เอางานโยธาให้เสร็จก่อน เพราะรูปแบบลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ก็ยังเห็นด้วยตามเดิม แต่ให้ตรวจสอบตัวเลขผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ให้ดี