สุดล้ำ “อธิรัฐ” ขีดเส้น15วัน ยกเครื่องเรือคลองแสนแสบ55ลำ ติด “GPS-WiFi-SmartTV” จี้เจ้าท่าจัดคนคุมเข้ม

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากได้นัดหมายกรมเจ้าท่า, กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ประกอบการเรือคลองแสนแสบ มาหารือถึงการออกมาตรฐานความปลอดภัย หลังจากที่ได้ไปสำรวจด้วยตนเองเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เบื้องต้น ได้สั่งการให้ผู้ประกอบการดำเนินการติดตั้งระบบ GPS บนเรือโดยสารจำนวน 55 ลำให้ครบ, ติดตั้ง Smart TV ที่บอกถึงจำนวนเรือโดยสารที่จะเข้าเทียบท่าว่ามีจำนวนเท่าไหร่ให้ครบ 28 ท่า, ติดตั้งจุดปล่อยสัญญาณ Wi-Fi บนท่าเรือด้วย นำร่องก่อน 15 ท่า, ทำที่กั้นด้านข้างท่าเรือทั้งซ้าย-ขวาทุกท่าเรือ และขอให้เพิ่มเรือโดยสารอีก 5 ลำมาเพิ่มด้วย ทั้งหมดนี้ผู้ประกอบการต้องทำให้เสร็จภายใน 15 วัน โดยเอกชนผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเองทั้งหมด

ส่วนกรมเจ้าท่า ก็ให้จัดเจ้าหน้าที่แต่งกายในเครื่องแบบมาดูแลประจำท่าเรือทุกท่า สำหรับท่าที่มีผู้ใช้บริการน้อย ให้นำเจ้าหน้าที่มาดูแล 1 คน ส่วนท่าที่มีผู้ใช้ริการเป็นจำนวนมากให้จัดเจ้าหน้าที่มาดูแล 2-3 คน เพราะที่เดินทางไปดูด้วยตนเองไม่เห็นเจ้าหน้าที่ประจำที่ท่าเรือเลย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องประจำท่าเรือ ตั้งแต่เรือเริ่มวิ่งจนถึงหยุดให้บริการ แบ่งได้ 2 ช่วงเวลา ช่วงแรก 05.00-12.00 น. และช่วงที่ 2 12.00-20.00 น. ซึ่งส่งผลให้กรมเจ้าท่าจะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือจาก 24 คนต่อช่วง เป็น 30 คนต่อช่วง

นอกจากนี้ การขึ้น-ลงเรือของประชาชน อยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยกวดขันให้เข้มข้นมากขึ้น โดยอย่าให้ประชาชนกรูขึ้นรถเรือพร้อมกันทั้งหมด และอย่าให้ประชาชนโหนเชือกบริเวณกาบเรือลงไปในตัวเรือ เพราะเกิดอันตรายได้ง่าย พยายามให้ประชาชนขึ้นเรือบริเวณกลางลำที่มีทางขึ้นทางลงดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกบ้างก็ต้องขออภัยและขอความร่วมมือมา ณ ที่นี้ด้วย คาดว่าหากมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง จะทำให้จำนวนผู้โดยสารที่แออัด 200-300 คน/เที่ยว เหลือ 150 คน/เที่ยว

ส่วนในระยะยาว ทราบว่ากรมเจ้าท่าได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำเรือต้นแบบพลังงานไฟฟ้าจำนวน 2 ลำ แต่เนื่องจากขั้นตอนอยู่ระหว่างว่าจ้าง ม.เกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาออกแบบ ก็ได้พยายามเร่งให้กรมเจ้าท่าดำเนินการให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน เมื่อได้เรือต้นแบบแล้ว เอกชนผู้ประกอบการก็สามารถนำเรือต้นแบบไปใช้ได้ทันที ส่วนเรือไฟฟ้าของ กทม.นำมาเดินเรือไม่ได้ เพราะเป็นเรือท้องแบน

ด้านนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในที่ประชุมมอบหมาย กทม.ดูแลเรื่องไฟส่องสว่างและการขุดลอกทำความสะอาดคลองแสนแสบเป็นหลัก ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิดและระบบรักษาความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ส่วนแผนการเดินเรือของ กทม.ที่จะต่อจากวัดศรีบุญเรือง – สำนักงานเขตมีนบุรี

ปัจจุบันได้ทดลองเดินเรือช่วงท่าเรือวัดศรีบุญเรือง – ห้างพาซิโอ้แล้ว ส่วนการต่อขยายไปถึงสำนักงานเขตมีนบุรี อยู่ระหว่างรอการอนุมัติงบดำเนินการจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของ กทม.อยู่ คาดว่าจะได้รับเบิกจ่ายภายในปีนี้ ซึ่งจะนำงบส่วนนี้ไปดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ คาดว่าจะสามารถเดินเรือในช่วงดังกล่าวได้ประมาณปลายปี 2563

ขณะที่นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) กล่าวว่า ปัจจุบันเรือคลองแสนแสบมีผู้ใช้บริการวันละ 60,000 คน หรือวันละ 700 เที่ยว ความถี่ในการปล่อยเรือ ช่วง 05.00 – 09.00 น. ความถี่เฉลี่ย 2 นาที/ลำ ช่วง 09.00-16.00 ความถี่เฉลี่ยลำละ 5-7 นาที และช่วง 15.00 – 20.00 น. จะเป็นการตีเรือเปล่าและมีความถี่เฉลี่ย 5 นาที/ลำ

ส่วนเรืออีก 5 ลำที่รัฐมนตรีสั่งการให้นำมาเสริม อาจจะนำเรือไม้ที่มีอยู่แบบเรือในปัจจุบันมาวิ่งไปก่อน เพราะตอนนี้กำลังต่อเรือใหม่ 2 แบบ คือ แบบเหล็ก 1 ลำ ใช้เงินลงทุน 3-4 ล้านบาท และแบบอะลูมิเนียม 1 ลำ ใช้เงินลงทุน 9 ล้านบาท แต่จะต้องทดลองเดินเรือก่อน เพราะเรือที่เป็นเหล็กมีน้ำหนักมาก ถ้านำมาใช้จะเกิดคลื่นกระทบชายฝั่งคลอง ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายได้

ขณะที่การติดตั้งระบบ GPS บนเรือ 55 ลำ และการติดตั้งสัญญาณ Wi-Fi บนท่าเรือ 15 ท่า มีค่าใช้จ่ายไม่มาก การติดตั้ง GPS มีค่าใช้จ่ายเพียง 300,000 – 400,000 บาท และการติดตั้งระบบ WiFi ตอนนี้ติดต่อกัผู้ให้บริการหลายราย เช่น ทีโอที ทรู เป็นต้น โดยอาจจะให้ติดตั้งฟรีแลกกับการให้พื้นที่โฆษณาบนท่าเรือ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย