“ศักดิ์สยาม” เร่งชงบิ๊กโปรเจ็กต์เข้าครม. ส.ค.ลุยซื้อฝูงบิน-ขอกู้เงินสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

“ศักดิ์สยาม” เร่งแก้ปัญหาโปรเจ็กต์ยักษ์ มูลค่า 7 แสนล้าน ก่อนชง ครม.อนุมัติ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์ ส.ค.เสนอซื้อฝูงบินใหม่แอร์บัส-โบอิ้ง 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้าน ตีตราจองกรอบงบฯปี”63 ลุย PPP สายสีส้ม 1.22 แสนล้าน สั่งเคลียร์เผือกร้อนเวนคืนบางใหญ่-กาญจน์ ชะลอมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ รื้อ EIA ใหม่ เดินหน้ารถไฟทางคู่เฟส 2 ซื้อรถเมล์ใหม่ ไฮสปีด 4 สาย เซ็นสัญญายกระดับพระราม 2 พ่วงด่วนใหม่พระราม 3 เฉียด 4 หมื่นล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าได้ติดตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ มี 8 โครงการยังติดปัญหาได้เร่งเสนอเรื่องที่กระทรวงโดยเร็ว ภายในเดือน ส.ค.นี้ มี 2 โครงการจะเสนอให้ ครม.อนุมัติ

ส.ค.ชงซื้อฝูงบิน 1.56 แสนล้าน

ได้แก่ เช่าเชื้อเครื่องบิน 38 ลำ ของ บมจ.การบินไทย วงเงิน 156,169 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่วง ปี 2562-2567 จำนวน 25 ลำ วงเงิน 78,614 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวพิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-374 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ วงเงิน 71,874 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง 8 เครื่องยนต์ วงเงิน 6,740 ล้านบาท และปี 2563-2569 จัดหาเครื่องบินแบบ option order 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงิน 77,555 ล้านบาท ทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแบบ A380-800 และ B777-200ER

“การบินไทยระบุจำเป็นต้องซื้อเพราะถึงวงรอบต้องโอเวอร์ฮอลและเป็นการกู้เงินมาดำเนินการเอง ไม่เป็นภาระงบประมาณรัฐ แบ่งซื้อจากแอร์บัสและโบอิ้งคนละครึ่ง ผมเห็นด้วยในหลักการก็ให้รีบเสนอโครงการมากระทรวง แต่ผมกำชับว่าขอให้เป็นมาตรฐานสากล”

อีกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 27 กม. จะให้เอกชนร่วม PPP net cost ด้านงานโยธาและเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กม.(บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มูลค่า 122,041 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้าง 96,000 ล้านบาท ค่างานระบบกว่า 30,000 ล้านบาท ได้สั่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับแผนงานใหม่ให้เป็นปัจจุบันเร่งเสนอครม.เพื่อขอจองกรอบเงินลงทุนในปีงบประมาณถัดไป เพราะกรอบงบประมาณปี 2562 เหลือ 30,000 ล้านบาท ไม่พอต่อโครงการที่ต้องการใช้เงินก่อสร้าง 96,000 ล้านบาท ขณะที่การเปิดประมูลจะต้องขยับออกไป

“สายสีส้มติด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ปีนี้จึงประมูลไม่ได้ เงินไม่พอ มีโครงการอีอีซีเข้ามา ก็ให้แนวทาง รฟม.ว่า ถ้าเสนอขออนุมัติหลักการขอให้อยู่ในกรอบปีงบประมาณหน้า และให้นโยบายไปว่าให้ใช้ยางพารามาใช้ในโครงการด้วย เช่น อุปกรณ์กันเสียง เพื่อช่วยเกษตรกรและประหยัดงบฯ”

รฟม.ยันประมูลสายสีส้มปีหน้า

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า สายสีส้มเป็นการลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี รูปแบบเดียวกับสายสีชมพูและสีเหลือง คือ รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเอกชนไม่เกินค่าก่อสร้าง 96,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) แบ่งชำระ 10 ปี แต่ในปี 2562 ยังไม่ได้งบประมาณเพราะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่รัฐต้องจัดสรรให้ก่อน 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องขอจัดสรรในปี 2563 แทน

“ปี’63 ยังไม่รู้จะมีโครงการใหญ่ขอมากแค่ไหน จะเร่งสายสีส้มเสนอ ครม.อนุมัติโครงการและจองกรอบลงทุนไว้ หากได้รับอนุมัติ จะตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เปิดประมูลในปี”63 จะใช้เวลา 1 ปี ตั้งเป้าสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ในปี”64 เปิดปี”68 ส่วนการเดินรถจะเร่งให้เร็วขึ้นให้ทันช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เปิดในปี”66”

อีก 6 โครงการ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า มีมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. รอ ครม.อนุมัติขยายกรอบค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้น 12,534 ล้านบาท จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 17,954 ล้านบาท กรมทางหลวงจะปรับแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2561 เป็นเงินกันเหลื่อมปี 7,534 ล้านบาท และลดวงเงินค่าก่อสร้าง ลง 5,225 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนแทน

“งบฯเวนคืนที่เพิ่มขึ้น ทางสำนักงบประมาณขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ที่กรมทางหลวงเวนคืนโดยใช้คู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 2530 ของกระทรวง โดยนำราคาที่เสนอขายหรือประกาศขายที่ดินมาใช้อ้างอิงในการกำหนดค่าตอบแทน สอดคล้องตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.เวนคืนหรือไม่ ให้กรมทางหลวงรีบส่งเรื่องมาเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาหาวิธีการไหนจะทำได้บ้าง หากใช้งบฯไม่ทันก่อน 1 ต.ค.นี้จะถูกริบงบฯคืน เพราะกันเหลื่อมปีไม่ได้ ต้องขอใหม่ในปีหน้า”

ชะลอมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ

นอกจากนี้ ยังมีมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้าง 60,716 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,290 ล้านบาท ตามแผนจะสร้างปี 2564-2567 โดยให้เอกชนลงทุน PPP net cost 30 ปี รัฐจ่ายเวนคืนและเอกชนลงทุนงานโยธา ระบบและรับสัมปทานบริหารและซ่อมบำรุงรักษาโครงการ

เนื่องจากโครงการยังติดปัญหา ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ เพราะฉบับเดิมดำเนินการมาหลายปีแล้ว และยังมีประชาชนคัดค้าน จึงให้กรมทางหลวงไปดำเนินการทุกอย่างให้พร้อมก่อนถึงเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ย้ำว่า โครงการไหนยังไม่พร้อมก็ไม่ต้องเสนอให้พิจารณา

ลุยทางคู่-ซื้อรถเมล์ลอตใหม่

ยังเร่งรัดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทางรวม 1,483 กม. วงเงิน 273,382 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้สภาพัฒน์พิจารณาโดยเร็ว

อีกทั้งให้เร่งนำโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะติดตั้งสถานีโทรคมนาคมให้ครอบคลุมสถานีรถไฟทั่วประเทศและศูนย์โทรคมนาคม วงเงิน 2,055.19 ล้านบาท เสนอเรื่องให้ ครม.และให้ ร.ฟ.ท.ตอบข้อหารือผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง วงเงิน 4,052 ล้านบาท ต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุน 2556 ว่าเป็นไปตามหลักการที่ ครม.อนุมัติหรือไม่

ในส่วนของ ขสมก.ขอทบทวนมติ ครม. วันที่ 9 เม.ย. 2556 อนุมัติให้ซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) 3,183 คัน เปลี่ยนเป็นจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ 3,000 คัน มี NGV 489 คัน รถไฟฟ้า 35 คัน ไฮบริด 1,453 คัน เช่ารถไฮบริด 400 คัน เช่ารถ NGV 300 คัน ปรับปรุงรถ NGV เดิม 323 คัน

และขอกู้เงินจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใหม่ 1,488 คัน วงเงิน 12,090 ล้านบาท ในปี 2563-2565 เป็นรถไฟฟ้า 35 คัน วงเงิน 466 ล้านบาท และรถดีเซล-ไฮบริด 1,453 คัน วงเงิน 11,624 ล้านบาท ให้ ขสมก.ทำรายละเอียด เสนอสภาพัฒน์ฯพิจารณาก่อนเสนอ ครม.

เดินหน้าไฮสปีด 4 สาย

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง จะเร่งเดินหน้าต่อ ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท ได้เร่ง ร.ฟ.ท.ประมูลงานโยธาให้เสร็จปีนี้ ส่วนสัญญางานระบบวงเงิน 50,600 ล้านบาท จะเจรจากับจีนให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กำกับกระทรวงคมนาคม และตนจะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับทูตจีน ในเงื่อนไขที่ยังไม่สรุป แต่ก็มีบางส่วนจบแล้ว เช่น การค้ำประกัน ซึ่งจีนยอมอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งโครงการนี้ทั้งไทยและจีนก็อยากให้เกิด

ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ให้ ร.ฟ.ท.ทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม ซี.พี.อย่างรอบคอบเป็นรายเดือนไม่ใช่รายปี ด้านสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงิน 212,892 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน จะให้ ร.ฟ.ท.นำข้อมูลโครงการมาให้พิจารณาต่อไป

จ่อเซ็นพระราม 2-ด่วน 3

นายศักดิ์สยามยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเซ็นสัญญาทางยกระดับพระราม 2 จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 10,500 ล้านบาท ว่าจะเร่งกรมทางหลวงนำโครงการให้พิจารณา เพราะต้องเซ็นก่อนเดือน ต.ค.จะสิ้นสุดงบประมาณปี 2562

ส่วนทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก วงเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท รอการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงข้อร้องเรียนการประมูลงาน ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้เร่งรัดเพราะใช้เงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) ก่อสร้าง หากเดินหน้าไม่ได้ให้หาโครงการอื่นมาแทน ตอนนี้ก็ยังไม่มีโครงการไหนจะมาทดแทนได้

“ผมผลักดันทุกเรื่องให้เดินหน้าตามแผน ไม่มีชะลอ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ก็ให้หน่วยงานเสนอมา ดูว่ามีวิธีการไหนบ้าง ท่านนายกรัฐมนตรีได้วางเครื่องมือการเงิน ใช้เงินกองทุน ดึงเอกชน PPP เป็นทางเลือกเพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณอย่างเดียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาว่าประเทศเราพร้อมจะลงทุนอะไรบ้าง เหมือนกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ตอนนี้เรามีอีอีซีที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามา” นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำ