ชงบอร์ดPPPเคาะ8โปรเจ็กต์ ดันศูนย์แพทย์8พันล้าน-เคหะเชียงใหม่

“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะพิจารณาอนุมัติ 8 โครงการลงทุน “PPP” 26 ส.ค.นี้ ดัน 2 โครงการ “ศูนย์การแพทย์-เคหะชุมชนเชียงใหม่” มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท พร้อมชี้ขาดปัญหา กทพ.ขอแก้สัญญาร่วมทุน รวมถึงวินิจฉัยอีก 5 โครงการ ฟากผู้อำนวยการ สคร.ชู “ศูนย์การแพทย์” โครงการเชิงสังคมระดมทุนแบบ PPP เป็นโครงการแรก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) หลังได้รับมอบหมายภารกิจจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานบอร์ด PPP แทน โดยเรื่องที่จะพิจารณาในการประชุมครั้งนี้จะมีเสนออนุมัติให้ดำเนินการลงทุนในลักษณะ PPP จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุขของกรมการแพทย์ มูลค่าวงเงินลงทุนรวม 8,220 ล้านบาท เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้เดินหน้าเปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนต่อไป ส่วนอีกโครงการคือ โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ หนองหอย ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) วงเงินลงทุนรวม 5,550 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีอีก 6 โครงการที่เสนอให้บอร์ด PPP วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. PPP ฉบับล่าสุด ประกอบด้วย

1 .โครงการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.),

2. โครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงแรมชายทะเล ของกรมธนารักษ์

4. กรณีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

5. การเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

6. โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้า (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด PPP จะมีการเสนอโครงการลงทุนที่เป็นโครงการเชิงสังคมโครงการแรกที่จะร่วมลงทุนแบบ PPP คือโครงการศูนย์การแพทย์ ส่วนอีกโครงการก็เป็นโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการพิจารณาข้อหารือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ติดปัญหาอุปสรรค เช่น กทพ.ขอหารือว่า จะแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนทางด่วนได้หรือไม่ เป็นต้น รวมถึงโครงการอื่น ๆ ซึ่งทาง สคร. ไม่สามารถตอบข้อหารือได้โดยตรง ต้องเสนอบอร์ด PPP วินิจฉัย นอกจากนี้ก็จะเป็นการเสนอกฎหมายลูกต่าง ๆ ที่ต้องเร่งออก

ส่วนของการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) นั้น นายประภาศ
กล่าวว่า เฟส 2 คาดว่าจะมีวงเงินราว 40,000-50,000 ล้านบาท แต่ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายของกรมทางหลวง เพื่อนำรายได้ค่าผ่านทางมาใช้ระดมทุน


นอกจากนี้ สคร.ได้ศึกษาเตรียมการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจนำโครงการลงทุนของตนเองมาบริหารจัดการให้เกิดการระดมทุนผ่าน TFFIF อาทิ โครงการระบบขนส่งทางราง อย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงโรงไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนดอนเมืองโทลล์เวย์ของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง เป็นต้น