ก.ย.เซ็นแน่สัญญาไฮสปีดEEC บิ๊กซีพีรอดูฤกษ์-ทำใจวืด”เมืองอู่ตะเภา”

บอร์ดร.ฟ.ท.ไฟเขียวเซ็นไฮสปีด ซี.พี.ดูฤกษ์ ก.ย.นี้ เปรยยิ่งลากนานยิ่งเหนื่อย “ศักดิ์สยาม” ให้ทำมาสเตอร์แพลนมอบพื้นที่ 5 ปี ยืนราคา 117,227 ล้านถึง ธ.ค.นี้ บิ๊ก ITD รับงานสุดหิน “ศุภชัย เจียรวนนท์” ย้ำแพ้อู่ตะเภา เร่งเจรจาเงินกู้ต่ำ พยุงไฮสปีดให้ไปต่อ 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 22 ส.ค. คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เห็นชอบให้ ร.ฟ.ท.ลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาทได้แล้ว และให้ตรวจสอบส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างอย่างรอบคอบ ซึ่งในวันที่ 26 ส.ค. จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ ซี.พี.พิจารณาและตอบกลับว่าเห็นด้วยหรือไม่

“บอร์ดให้หารือ ซี.พี. กำหนดวันเซ็นสัญญา คาดว่าอยู่ในเดือน ก.ย.นี้ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนด เชื่อว่าแม้ ซี.พี.จะไม่ได้สนามบินอู่ตะเภา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหลือทำแผนส่งมอบพื้นที่ หากจะถอดใจจริงต้องทำหนังสือแจ้งเป็นทางการ ไม่ใช่พูดปากเปล่า โดย ซี.พี.ยังยืนราคา149,650 ล้านบาท ได้ถึง ธ.ค.นี้”

รายงานข่าวกล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้ ร.ฟ.ท.ทำแผนมอบพื้นที่เป็นมาสเตอร์แพลนให้ชัดภายใน 5 ปี มอบให้ได้วันไหนเดือนไหนอย่างละเอียดเพื่อเจรจากับ ซี.พี.จะได้ไม่มีปัญหา ซึ่ง ซี.พี.ให้อิตาเลียนไทยฯทำแผนก่อสร้างให้รับกรอบเวลามอบพื้นที่ จะทำให้เสร็จใน ส.ค. เพื่อเซ็นสัญญา ก.ย.นี้

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่า กำลังออกแบบก่อสร้างให้รับแผนส่งมอบพื้นที่ ยอมรับเป็นการก่อสร้างที่ยาก ขณะนี้ยังมั่นใจโครงการจะยังเดินหน้า เหลือแค่ส่งมอบพื้นที่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้อนุมัติเพิ่มสัดส่วนก่อหนี้ผูกพันจากเดิมไม่เกิน 5% ของงบประมาณเป็นไม่เกิน 8% เพราะต้องการให้ลงนามกับ ซี.พี.ได้ในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว หากถึงสิ้น ก.ย.นี้แล้วยังไม่ลงนาม ก็ต้องไปเริ่มนับสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันใหม่ในงบประมาณปี 2563

การที่ ซี.พี.ยังไม่เซ็นสัญญาในขณะนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ถูกศาลตัดสินให้แพ้คดีกรณียื่นซองประมูลสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า เพราะหัวใจหลักการลงทุนพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ สนามบินอู่ตะเภาที่จะทำรายได้ ขณะที่ไฮสปีดต้องใช้เวลาคืนทุนนาน ต้องมีรายได้จากสนามบินมาช่วยซัพพอร์ต เมื่อพลาดโครงการก็ทำให้แรงจูงใจลงทุนไฮสปีดลดลง

อีกทั้งยังติดปัญหาส่งมอบพื้นที่มีผู้บุกรุกอยู่มาก เมื่อพื้นที่ยังไม่เคลียร์ทำให้เอกชนกังวล และมีเรื่องแหล่งเงินทุนที่ต้องใช้เงินมาก ทางเอกชนต้องการเงินทุนที่ต้นทุนต่ำที่สุด เพราะต้องลงทุนก่อสร้างทันทีหลังเซ็นสัญญา รัฐไม่ได้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ และกว่าโครงการจะคืนทุนใช้เวลานับ 10 ปี ล่าสุดมีข่าวว่าได้เจรจาทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ ร่วมให้กู้ในส่วนที่เป็น import content ด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องดูเรื่องการระดมทุน หาเงินกู้ให้จบถึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้

“ซี.พี.ยื่นประมูลสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้โครงการสนับสนุนกันและกัน ถ้าไม่ใช่เราลงทุน ก็ต้องทำใจแล้วว่ารถไฟความเร็วสูงต้องยืนพื้นไปให้ได้ จะมีแผนสำรองเป็นเครดิตไลน์มาช่วย

บริษัท คุยกับเจบิก CBD รวมถึงเอ็กซิมแบงก์ ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ ถ้าแพ้อู่ตะเภาต้องคุยกับผู้ชนะว่าเรามีแผนพัฒนาแบบนี้ เขาก็ต้องพึ่งเราที่จะป้อนคนไปสนามบิน ทำแล้ววิน-วิน ซึ่งเมืองการบินมีข้อดี คือ คาพาซิตี้ของสนามบินเป็นไปตามทราฟฟิกจริง สามารถทยอยลงทุนเป็นเฟส ๆ ได้ แต่รถไฟต้องทุ่มลงทุนไปเลย 5 ปี”