เร่งขยายโทลล์เวย์ “รังสิต-บางปะอิน” เชื่อมมอเตอร์เวย์สายอีสานดึงเอกชน PPP 3.9 หมื่นล้าน

ทางหลวงเร่งขยายโทลล์เวย์ “รังสิต-บางปะอิน” เชื่อมมอเตอร์เวย์สายอีสานดึงเอกชน PPP 3.9 หมื่นล้าน เปิดประมูลปี’63

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า วันที่ 26 ส.ค.2562 กรมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต – บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 39,956 ล้านบาท เพื่อนำความคิดเห็นของเอกชนไปปรับปรุงผลการศึกษาและหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม โดยโครงการมีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ 0.9%

สำหรับไทม์ไลน์ขณะนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาเบื้องต้นได้ภายในปีนี้ จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการศึกษาได้ภายในปีนี้ถึงต้นปี 2563 หลังจากนั้นตลอดปี 2563 จะเป็นช่วงที่จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนและตอบข้อซักถามต่างๆ

จากนั้นช่วงปี 2564 จะเป็นการคัดเลือกเอกชน และจะได้ตัวเอกชนที่จะร่วมลงทุน และคาดว่าอย่างเร็วที่สุดปลายปี 2564 จะเริ่มก่อสร้างได้ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี จะเปิดให้บริการปี 2568 อย่างไรก็ตาม กรมยังไม่กำหนดว่าจะร่วมลงทุนกับเอกชนในรูปแบบใดและยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้มีอายุสัญญาสัมปทานกี่ปี ตอนนี้วางไว้กว้างๆ 10 – 30 ปี ต้องรอผลการรับฟังความเห็นจากเอกชนก่อน

นายอานนท์กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดอัตราค่าผ่านทางวางไว้ว่า ช่วงรังสิต – บางปะอิน จะมีค่าผ่านทางอยู่ที่ 60 บาท แต่ยังต้องมีการทบทวน เพราะช่วงดังกล่าาวผ่านมหาวิทยาลัยสำคัญ 2 แห่ง คือ ม.กรุงเทพ และม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หากใช้อัตรา 60 บาทจ่ายเหมาตลอดช่วงจะกระทบกับประชาชนได้ และหากประชาชนเดินทางจากช่วงดินแดง – อนุสรณ์สถาน และช่วงอนุสรณ์สถาน – รังสิต จะทำให้ประชาชนเสียค่าผ่านทาง 3 ต่อ หรือสูงสุดอยู่ที่ 160 บาทเลยทีเดียว จึงต้องกลับไปวางแผนทบทวนการกำหนดอัตราค่าผ่านทางใหม่ก่อน

สำหรับกรณีที่ดอนเมืองโทลล์เวย์มีกรณีเป็นทางแข่งขันกับทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน– ปากเกร็ด) จนทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แพ้คดีฟ้องร้องกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) นั้น เบื้องต้น ทราบมาว่าโครงการทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ดจะหมดอายุสัญญาในปี 2567 แต่ของส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์จะเปิดให้บริการปี 2568 ดังนั้น ไม่น่าจะมีประเด็นฟ้องร้องอะไรกับรัฐอีก

ขณะที่สัญญาดอนเมืองโทลล์เวย์เดิมนั้นจะหมดลงในปี 2577 แต่กรมจะไม่รอให้สัมปทานเดิมหมดก่อนจึงจะเปิดใช้ อาจจะเปิดให้ร่วมทุนก่อนในระยะสั้น 10 ปี เป็นแบบ PPP gross cost นับจากปี 2568-2577 สัญญาจะหมดอายุพอดี จากนั้นมีแนวคิดที่จะรวมดอนเมืองโทลล์เวย์ทุกตอนมาเปิดประมูลใหม่เป็นสัญญาเดียว แต่ขอตรวจสอบความเหมาะสมก่อน

สำหรับโครงการต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต – บางปะอิน วงเงิน 39,956 ล้านบาท แบ่งงานออกเป็น 2 แบบคือ งานโยธา 28,135 ล้านบาท และงานวางระบบและการบำรุงรักษา (O&M) 11,821 ล้านบาท งานโยธาก่อสร้างทางขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ ช่องจราจรกว้าง 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1 เมตร มีจุดขึ้นลงและเชื่อมต่อ 8 แห่ง

แบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ ภาครัฐ/เอกชนเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน และเอกชนติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ โดยครอบคลุมช่วงรังสิต-บางปะอิน และช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต (ซึ่งเปิดให้บริการในปัจจุบัน) โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน

ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา (ครอบคลุมช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 10 – 30 ปี

ทั้งโครงการมีการเวนคืนที่ดินจำนวน 9 ไร่ คิดเป็น 9 แปลง วงเงิน 100 ล้านบาท พื้นที่เวนคืนส่วนมากอยู่ที่อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ช่วงบางปะอิน – นครราชสีมา โดยจะเวนคืนเพื่อทำแลมเลี้ยวเชื่มต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์เป็นส่วนใหญ่

สำหรับเอกชนที่มาร่วมรับฟังในวันนี้มีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, ซูมิโตโม มิซุย ทรัสต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทรับเหมาและเอกชนที่สนใจมารับฟัง เช่น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บมจ.ช.การช่าง, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) บมจ.ราช กรุ๊ป, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ China Harbour Engineering จากประเทศจีน เป็นต้น