27 วัน “ศักดิ์สยาม” โหมสางปัญหาคมนาคมลุยลงทุนทุกโปรเจ็กต์ 1.9 ล้านล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า การดำเนินงานของกระทรวงยังคงยึดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ทำไว้ โดยจะต้องสัมฤทธิ์ผลในปี 2578 ซึ่งมีหลายโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั้งบก ราง น้ำ อากาศ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย

อีกสิ่งหนึ่งที่กระทรวงเข้าไปเกี่ยวข้องคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) และสนามบินอู่ตะเภา จะมี 2 โครงการที่ติดขัดในกระบวนการยุติธรรมคือ สนามบินกับท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พลเอกประยุทธ์กำชับให้ลงนามให้ได้ในเดือน ก.ย.นี้ ทางกระทรวงได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและคาดว่าจะสามารถลงนามได้ตามที่กำหนดไว้แน่นอน

“ถ้าโครงการต่างๆ ในอีอีซีสร้างเสร็จ น่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศเราได้ นี่ถือว่าเป็นภาคต่อจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในปี 2525 ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”

สำหรับการดำเนินงานตลอด 27 วันที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ได้วางวิสัยทัศน์ไว้ 5 เรื่องคือ 1. ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย และประหยัด 2. ลดภาระด้านงบประมาณของรัฐ 3. ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 4. ยกระดับมาตรฐานชีวิตและลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และ 5. ทุกโครงการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีค่าโง่ ทั้งหมดข้างต้นแบ่งกลุ่มวงเป็นไทม์ไลน์ไว้ 1 เดือน, 3 เดือน และ 3 ปี

@ปูพรมแก้จราจร-ตรวจรถ-120 กม. 1 เดือน

กลุ่มงานที่ให้ทำใน 1 เดือน มีเรื่องการแก้ไขโครงการก่อสร้างที่มีความล่าช้า เช่น โครงการปรับปรุง ถ.พระราม 2, ถ.กัลปพฤกษ์ และติดตามความคืบหน้ามอเตอร์เวย์บางปะอิน – โคราช โดยให้ปรับแผนก่อสร้างใหม่ เพื่อลดผลกระทบที่มีกับประชาชนและบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ และต้องมีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้

และจากปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จึงให้นโยบายกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการตรวจตรารถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างเข้มงวด หากพบรถคันใดที่มีสภาพไม่พร้อมตามกฎหมาย ก็ให้พักการใช้รถและนำไปปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกรอบเวลาให้รถบรรทุกขนาดใหญ่สามารถใช้งานได้ในช่วง 00.00 – 04.00 น. เท่านั้น โดยปรสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแก้ปัญหานี้กัน โดยให้นำร่องบน ถ.กาญจนาภิเษกก่อน เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดในเวลาเร่งด่วน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในช่วงเวลากลางวันมีรถบรรทุกวิ่งบนถนนเฉลี่ยประมาณ 50,000 คัน/วัน หากลดปริมาณรถส่วนนี้ได้ จะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น และถ้าผู้ประกอบการรถบรรทุกมีปัญหาก็มาคุยที่กระทรวงได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำใน 1 เดือน คือ การกำหนดอัตราความเร็วบนถนนที่มีเลนจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไปใหม่ ให้ใช้สูงสุดได้ 120 กม./ชม. ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีมีถนนออโตบาห์น (AUTOBAHN) ซึ่งมีการจัดระเบียบความเร็วในทำนองเดียวกัน จะเริ่มทดลองใน ถ.สายหลัก เช่น สุขุมวิท, เพชรเกษม, มิตรภาพ และพหลโยธิน ซึ่งจะควบคู่ไปกับการเพิ่มความปลอดภัยด้วยการทำแบริเออร์จากยางพาราบริเวณเกาะกลางถนน ได้ให้โจทย์ไปแล้วว่า แบริเออร์ดังกล่าวจะต้องมีศักยภาพรองรับรถที่ใช้ความเร็ว 140 -150 กม./ชม. ให้ได้ จะไม่มีการรื้อเกาะกลางถนนเพื่อทำแบริเออร์ แต่จะให้ใช้ในถนนสายใหม่ที่กำลังก่อสร้างของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อย่นระยะเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้นและช่วยเหลือเกษตรกร

ถัดมาคือการบริหารจัดการรถโดยสารสาธารณะ ให้เวลา workshop กัน 1 เดือน เพื่อดูปัญหาต่างๆ โดยยังไม่ได้ให้ขึ้นราคาค่าแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างแต่อย่างใด และสั่งการให้ ขบ.ทำแอปพลิเคชันช่วยเหลือในการเดินทางเหมือนแอปต่างๆ เช่น Grab หรือ Uber โดยต้องใช้ผู้พัฒนาที่เป็นคนไทยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหล

@3 เดือนยกเครื่องโหมดเดินทางสาธารณะ

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ส่วนแผนงานที่จะทำภายใน 3 เดือน เริ่มต้นที่การใช้รถไฟฟ้า จะต้องนำระบบ Commom Ticket มาใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกโหมด ส่วนแนวทางการปรับลดค่ารถไฟฟ้า กำลังศึกษาและอาจจะนำเงินในอนาคตมาชดเชย กำลังหารูปแบบที่เหมาะสม ขณะที่ปัญหาการจราจรหน้าด่าน ทางด่วน และทางพิเศษจะต้องจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบ Easy Pass และ M-PASS เพื่อลดความแออัด เช่น ลดราคาเมื่อใช้งานผ่านบัตร 10% เป็นต้น และได้ให้วิธีการกับกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่าจะต้องจัดเจ้าหน้าที่มาขายตั๋วผ่านทางบริเวณหน้าด่าน เพื่อให้การชำระเงินรวดเร็วขึ้น

อีก 1 โหมดเดินทางที่ต้องปรับปรุงคือ รถเมล์โดยเฉพาะของ ขสมก.ที่ต้องปรับบทบาทจากเดิมที่วิ่งทับเส้นทางกันอุตลุด ให้ปรับเป็นฟีดเดอร์รองรับรถไฟฟ้าที่จะสร้างเสร็จในอนาคตแทน และต้องใช้รถแอร์ในการให้บริการเท่านั้น รวมถึงต้องนำระบบตั๋ววันมาใช้ให้ได้ กำหนดราคาตั๋ววันที่ 30 บาท

@ลงทุนเน้นทางคู่

ขณะที่การลงทุนโครงการต่างๆ ของคมนาคม จะเน้นหนักไปที่รถไฟทางคู่ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนและจำนวนรถบรรทุกในปัจจุบันให้ได้ 30% ส่วนรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล จะผลักดันทุกเส้นทาง แต่มีบางโครงการที่ต้องปรับแผนใหม่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ มีปัญหาเงินงบประมาณมีไม่พอที่จะลงทุน โดยจะให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะ PPP แต่ต้องดูรูปแบบที่เหมาะสมก่อน

ส่วนการคมนาคมทางน้ำมอบหมายให้นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วย ดูแลเป็นหลัก โดยเฉพาะการให้ต่อแพขนานยนต์ขนาดใหญ่เพื่อบรรทุกรถบรรทุกให้ได้ 180 คัน ขนส่งสินค้าจากบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือคลองเตยให้ได้ ก็จะช่วยลดปัญหาจราจรที่เกิดจากรถบรรทุกได้

@ลุยตามแผนลดสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองแออัด

ด้านโครงการทางอากาศ มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำอาคารผู้โดยสารใหม่ รันเวย์ใหม่ ยกระดับสนามบินภูมิภาคให้เป็นเชิงพาณิชย์ รวมถึงการก่อสร้างสนามบินใหม่ เช่น สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่ จ.พังงา ทุกอย่างจำเป็นต้องทำ เพราะสนามบินหลักของประเทศอย่างดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รับผู้โดยสารเกินศักยภาพแล้ว


“ยืนยันว่าจะผลักดันทุกโครงการ โครงการใหญ่ที่ติดเพดานงบประมาณอย่างสายสีส้มก็ให้หารือกับ สคร.ให้ดี จะแบ่งการดำเนินการออกเป็นหลายเฟสเหมือนมอเตอร์เวย์ได้ไหม ก็ลองไปคิดดู ผมทำทุกเรื่องไม่ต้องห่วง ไม่มีชะลอหรือรอใคร และศุกร์นี้ (30 ส.ค.) ผมจะรายงานความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้ขอข้อมูลกับการรถไฟเรียบร้อยแล้ว” นายศักดิ์กล่าวในช่วงท้าย