เซ็นทรัลวิลเลจ- ทอท. รัวหมัดต่อหมัด รอบ 9 วัน “เจ้าที่ดินปะทะเจ้าถิ่น”

นับเป็นข้อพิพาทที่ร้อนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เมื่อ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ทอท. ในนามรัฐวิสาหกิจของการท่าอากาศยานไทย ปะทะกับธุรกิจเอกชน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ต่างฝ่ายต่างมีของแข็งหนุนหลัง ฝ่ายหนึ่งเป็นธุรกิจเอกชนประกาศว่าเป็น “เจ้าของที่ดิน” อีกฝ่ายเป็น “เจ้าถิ่น” อ้างสิทธิครอบครอง ไม่มีใครยอมใคร ฟาดกันฝ่ายละหมัดต่อหมัด วันต่อวัน

ทั้ง 2 ฝ่าย จึงต้องนับชั่วโมง ลุ้นให้ศาลปกครองออก “คำสั่ง” คุ้มครอง หรือ “ไม่คุ้มครอง” ในอีกราว 24 ชั่วโมงข้างหน้า ก่อนที่ “เซ็นทรัลวิลเลจ” จะ Grand opening ในวันที่ 31 สิงหาคม 2562

ตลอด 9 วันที่ผ่านมา ฝ่ายไหนพูดอะไร-ดำเนินการอย่างไร

เซ็นทรัลเตรียม “เปิด” ทอท.สั่ง “ปิด”

ขณะที่ฝ่าย “เซ็นทรัลวิลเลจ” โหมโฆษณาประชาสัมพันธ์เตรียม “เปิด” โครงการในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 อย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าราวกับฟ้าผ่ากลางโครงการ เมื่อ “ทอท.” สั่ง “ปิด” ทางเข้า-ออก

วันที่ 21 สิงหาคม 2562 บริษัท ทอท.ให้ฝ่ายกฎหมายของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พนักงานสอบสวน สภ.บางพลี สมุทรปราการ ให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องการก่อสร้างศูนย์การค้า เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น

“ฐานก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของกรมท่าอากาศยานไทย และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแล ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”

พร้อมขึ้นป้ายขนาด 2 เสา โดยฝ่ายบริหารทรัพย์สิน บมจ.ทอท. ระบุข้อความว่า “พื้นที่ในความครอบครองของ ทอท.ห้ามผู้ใดบุกรุก มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฏหมายโดยเด็ดขาด”

โดยสั่งปิดพื้นที่ทางเข้าประตู 1 โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต ตั้งแต่เย็นวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยนำเต้นท์ขนาดใหญ่มาตั้งขวาง และนำแท่งแบริเออร์ตั้งกั้นถนนทางเข้าเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร อุปกรณ์ก่อสร้าง และตกแต่งภายในไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้

เซ็นทรัลฟ้องศาลปกครอง

วันที่ 23 สิงหาคม 2562 บมจ.ซ็นทรัลพัฒนา ยื่นฟ้อง ทอท.ต่อศาลปกครอง ระบุว่า ทอท.กระทำการละเมิดที่ได้รับอนุญาตให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงจาก ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน แต่ ทอท.ได้ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งคุ้มครอง โดยขอให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไป ห้ามมิให้ ทอท.รบกวนการใช้ประโยชน์ใด ๆ และขอให้ ทอท.ยุติดำเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรค บนทางหลวงแผ่นดิน 370 บริเวณเข้า-ออก หน้าโครงการ ต่อการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา นำป้ายมาติดที่บริเวณริมรั้ว มีข้อความว่า “CENTRAL VILLAGE BANGKOK LUXURY OUTLET โครงการนี้ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน มิได้มีการรุกล้ำพื้นที่ใคร”

โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางพลี เฝ้าประจำจุดยู่ที่ด้านหน้าสถานที่ก่อสร้างศูนย์การค้า มีการนำเชือกพลาสติกลายขาวแดงมาขึงกั้นไม่ให้คนเดินทางเข้าออก พร้อมจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางพลี กว่า 20 นาย เข้าประจำจุดรักษาความสงบ

ทำเนียบรัฐบาลร้อนสั่งคมนาคมสนธิกำลังมหาดไทย

27 สิงหาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า “กรณีการก่อสร้างเซ็นทรัลวิลเลจ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือพูดคุย ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการอนุมัติก่อสร้างว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดนยืนยันไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับใคร”

ตามด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสนธิกำลังกับกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า “ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งหมด โดยย้ำว่า ถ้าถูกก็คือถูก ไม่ถูกก็คือไม่ถูก กระทรวงมหาดไทยได้ลงไปดูในเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.ผังเมือง”

เจ้าของถิ่น-ระบุสั่งรื้อตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 62

วันที่ 27 สิงหาคม 2562 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวถึงกระแสข่าวว่า ทอท.ปกป้องผลประโยชน์ให้คิง เพาเวอร์ ที่เพิ่งได้รับการขยายสัมปทานนั้น เป็นเรื่องที่ “โยงกันไปเอง เคสนี้มีคนทำผิดกฎหมายอยู่ ต่อให้อยากปกป้อง ก็ไม่ควรเอา ทอท.เข้าไปเกี่ยว ฝั่งนั้นรุกที่ลำน้ำสาธารณะ รุกที่ราชพัสดุ จะยอมให้เปิดหรืออย่างไร ทอท.ไม่อยากทะเลาะ แต่จะให้ทำอย่างไร”

“ที่นำแบริเออร์ปิดทางเข้า-ออกเซ็นทรัลวิลเลจ เพราะพบว่ามีการสร้างรุกล้ำในที่ราชพัสดุ บริเวณไหล่ทางถนน 370 (ถนนเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ) ที่เชื่อมโครงการกับถนน 370 ซึ่งแจ้งให้เซ็นทรัลรื้อออกเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังเพิกเฉย”

“กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างถนนสายนี้ก็จริง แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งเซ็นทรัลไปขออนุญาตกับกรมทางหลวง ซึ่งกรมฯก็คิดว่ามีอำนาจเลยอนุญาตโดยบริสุทธ์ใจ ก่อนหน้านี้ก็อนุญาตมาแล้ว 37 ราย จริง ๆ อำนาจการอนุญาตเป็นของ ทอท. เพราะมีประกาศกรมธนารักษ์ให้อำนาจ ทอท.จัดการกับผู้บุกรุกในพื้นที่ดังกล่าวได้”

นอกจากนี้ ทอท.ทำหนังสือไปยัง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยด้านการบินและนักบินหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศ ซึ่งห่างสนามบินสุวรรณภูมิ 1 กม. เช่น การปล่อยคลื่นสัญญาณ แสงไฟ กิจกรรมที่อาจเกิดควัน หรือดึงดูดนก การปล่อยแสงเลเซอร์

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระทึก “ช้างชนช้าง”

กรมทางหลวง : ผู้ที่กล่าวไม่ประสงค์จะออกนาม ระบุว่า “ถนนอยู่ระหว่างการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างกรมฯกับกรมท่าอากาศยานที่ยังไม่แล้วเสร็จ ติดเรื่องที่ดินธรณีสงฆ์ แต่ได้รับหนังสือให้สร้างและซ่อมบำรุง กรมจึงเชื่อโดยสุจริตใจว่ามีอำนาจในการอนุญาตให้เชื่อมทางได้”

กระทรวงการคลัง : ผู้ให้ความเห็นไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า “ข้อพิพาท ทอท.กับเซ็นทรัลวิลเลจต้องให้ศาลชี้ขาด เพราะเป็นเรื่องช้างชนช้าง ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง”

“กรมธนารักษ์ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ แล้ว เป็นอำนาจ ทอท. แต่ประเด็นมีว่า ทอท.ให้ทางหลวงทำถนนก็ต้องเป็นทางสาธารณะ แล้วใครมีอำนาจที่ให้คนอื่นมาเชื่อม ถ้า ทอท.จะไม่ให้เชื่อมก็ต้องใช้งบฯตัวเองสร้าง ต้องชี้ขาดกันในชั้นศาล”

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) : นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า “ได้อนุญาตให้ก่อสร้างเดือน ก.ค. 2561 ในนาม บริษัท สวรรค์วิถี จำกัด และตรวจสอบแบบแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อแนวร่อน ในเขตการเดินอากาศ จึงอนุมัติให้สร้างอาคารสูง 23 เมตร ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหหนดไม่เกิน 36 เมตร ยังไม่พบการฝ่าฝืนกฎหมาย”

ศาลปกครอง “ยังไม่คุ้มครอง” เซ็นทรัลฟ้องต่อ

วันที่ 28 ส.ค. 2562 ที่ศาลปกครองกลาง องค์คณะศาลปกครอง 5 คน ออกนั่งบัลลังก์ ภายหลังการไต่สวนถึง 4 ชั่วโมง ตลอดบ่าย แต่ “ยังไม่ออกคำสั่ง” ว่าจะคุ้มครองหรือไม่

นายเขมจิต ชุ่มวัฒนะ หัวหน้าทีมกฎหมาย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กล่าวสั้นๆ ว่า “ได้ขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวให้ ทอท.เปิดเส้นทางเข้าออกโครงการ หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล นอกจากนี้ ได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก ทอท.แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้”

นางสาวชนาลัย ฉายากุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า “เบิกความตามข้อเท็จจริงตามที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่มอบอำนาจมา ซึ่งศาลปกครองจะนำข้อเท็จจริงกลับไปประชุมองค์คณะก่อน ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ จะเปิดให้บริการในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ได้หรือไม่ เนื่องจากมีการขวางทางเข้าออกนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ตนเป็นผู้รับมอบอำนาจให้มาเบิกความตามข้อเท็จจริงกับทางศาลเท่านั้น”

วันที่ 28 สิงหาคม 2562 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ เตรียมพร้อมเปิดตัวตามกำหนดการเดิม (31 สิงหาคม 2562 )

วันที่ 29 สิงหาคม 2562  นายณัฐวุฒิ ทาอินต๊ะ ประธานสหภาพแรงงานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พาสื่อมวลชนลงพื้นที่หน้าโครงการก่อสร้าง “เซ็นทรัล วิลเลจ” ระบุว่า “ยังมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้ว่าพื้นที่ของเซ็นทรัล วิลเลจ จะอยู่นอกเขตสนามบิน แต่ก็เป็นบริเวณใกล้เคียงสนามบิน แม้ว่าไม่ได้อยู่ในการกำกับของสนามบินโดยตรง แต่การที่จะมีผู้ใดที่มีพื้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสนามบิน โดยเฉพาะในแนวบินร่อนลง จะมีกิจกรรมใดๆ หรือใช้พื้นที่ก่อสร้างจะอยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบจากรัฐ (กพท.) ที่จะต้องตรวจสอบกิจกรรมดังกล่าว ว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบินหรือไม่”

อีกไม่กี่อึดใจ จะได้เห็นดำ-เห็นแดง ฝ่ายเจ้าของที่ดินหรือเจ้าถิ่น จะได้ไปต่อ….


ท้าพิสูจน์ คำพูดของ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ซีพีเอ็น ที่ว่า “ที่ผ่านมาเกือบ 40 ปี ยังไม่เคยมีโครงการใดของซีพีเอ็นที่ไม่สามารถเปิดได้ตามกำหนด คร้ังนี้ถือเป็นครั้งแรกของบริษัทที่เจอปัญหาในลักษณะเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมา ซีพีเอ็นให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างถูกต้องและโปร่งใสมาโดยตลอด”