ขาใหญ่ชิงร่วมทุนหมื่นล้าน ศูนย์การแพทย์”สวนสมเด็จ”

รัฐบาลเดินหน้าโปรเจ็กต์ร่วมลงทุน “ศูนย์การแพทย์” สถานีกลางบางซื่อ ฝั่งตรงข้ามสวนสมเด็จฯ มูลค่าหมื่นล้าน ทีโออาร์ให้เอกชนลงทุนก่อสร้าง พร้อมจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทุกชิ้นตลอด 30 ปี ชูเป็นศูนย์รวมแพทย์เฉพาะทางรองรับชนชั้นกลาง เตรียมตั้ง “องค์การมหาชน” เพิ่มความคล่องตัวแบบเอกชน เผยยักษ์ธุรกิจไทย-เทศเกาะติดร่วมประมูลต้นปี 2563 วงในจับตา “ปตท.” จับมือพันธมิตรร่วมวง

 

โมเดลใหม่ “ศูนย์การแพทย์”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ “โครงการศูนย์การแพทย์” มูลค่ากว่า 8,200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการ PPP ด้านสาธารณสุขโครงการแรก ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 510 เตียง บริเวณสถานีรถไฟกลางบางซื่อ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะมีบริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ครอบคลุม ภายใต้อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดความแออัดในการใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐอีกด้วย

“ส่วนรูปแบบการร่วมทุน คือ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง บำรุงรักษาอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด ส่วนภาครัฐจะเป็นผู้บริหาร และให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน นอกจากจะมีข้อดีตรงที่รัฐจะได้รับเม็ดเงินลงทุนส่วนหนึ่งจากเอกชนแล้ว ยังมีข้อดีตรงที่โครงการดังกล่าวจะได้รับความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ของเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น

ตั้งเป็น “องค์การมหาชน”

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อรองรับการให้บริการคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งค่ารักษาพยาบาลก็จะอยู่ระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน โดยผู้ที่เป็นราชการหรือผู้ทำประกันสังคมจะสามารถ “เบิกได้” บางส่วน ขณะเดียวกันก็จะช่วยกระจายความแออัดของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรัฐได้ ศูนย์การแพทย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ เช่น ด้านกระดูก จะมีโรงพยาบาลเลิดสินที่มีความเลิศด้านโรคกระดูก, โรคผิวหนัง โดยสถาบันโรคผิวหนัง, รวมถึงโรคมะเร็ง ที่จะมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติให้การสนับสนุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายว่าจะให้เป็น “ต้นแบบศูนย์การแพทย์ทางราง” ในการส่งต่อผู้ป่วยต่าง ๆ มาทางระบบขนส่งทางราง เนื่องจากศูนย์การแพทย์แห่งนี้ก็ตั้งอยู่ในสถานีกลางบางซื่อ

“ในส่วนของเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนจะเข้ามารับผิดชอบในส่วนการก่อสร้าง และบริหารจัดการในส่วนของ nonmedical คือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือเซอร์วิสแอเรียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ รวมถึงส่วนของอาคารที่จอดรถ ขณะที่ในส่วนของบริการทางการแพทย์ภาครัฐจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งการบริหารจัดการจะทำในรูปแบบองค์การมหาชน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหาร หลุดจากการเป็นโรงพยาบาลรัฐ”

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวและว่าในด้านบุคลากรทางการแพทย์ก็เตรียมพร้อมวางแผนดึงข้าราชการแพทย์เกษียณอายุที่มีความสามารถ รวมถึงได้มีการให้ทุนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันกรมการแพทย์มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีการส่งนักเรียนแพทย์มาขึ้นบอร์ดที่ รพ.ราชวิถีและเลิดสินอยู่แล้ว

ยักษ์ไทย-เทศร่วมประมูล

นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับมูลค่าลงทุน 8,200 ล้านบาท เป็นงบฯลงทุนเฉพาะในส่วนการก่อสร้าง หากรวมส่วนเครื่องมือแพทย์จะมีมูลค่าระดับหมื่นล้านบาท ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนที่เข้ามาติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดอยู่ 4-5 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ อย่างญี่ปุ่น สหรัฐ เป็นต้น ซึ่งบางรายก็เป็นบริษัทร่วมทุนที่มีประสบการณ์ในการทำโครงการ PPP ในต่างประเทศ บริษัทที่สนใจเข้ามาไม่ได้อยู่วงการแพทย์โดยตรง เพราะในส่วนของการให้บริการทางการแพทย์ภาครัฐจะรับผิดชอบ

“เนื่องจากศูนย์การแพทย์แห่งนี้ไม่ได้เป็นธุรกิจแสวงหาผลกำไร แต่ต้องสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงต้องมีการคำนวณเรื่องการลงทุนและต้นทุนต่าง ๆ ให้ชัดเจน ในเรื่องของอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) ซึ่งโครงการนี้มีทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาที่จะช่วยคำนวณหาโมเดลที่ดีที่สุด”

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนให้บริษัทเอกชนที่มาร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยเบื้องต้นกำหนดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายผลตอบแทนคืนให้เอกชนหลังเปิดให้บริการครบ 2 ปี เพื่อให้ศูนย์การแพทย์เริ่มมีรายได้พอที่จะคืนทุนให้เอกชน

สั่ง BOI คิดนอกกรอบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการ PPP ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักการโครงการศูนย์การแพทย์ เพียงแต่ให้กลับไปจัดทำรายละเอียดโครงการใหม่มาให้ชัดเจน เนื่องจากที่ปรึกษาโครงการประเมินผลตอบแทนมายังมีความไม่ชัดเจน แม้จะระบุว่าโครงการมีอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) 11% แต่หากรัฐคุมค่ารักษาพยาบาลไม่ให้สูงเกินไป ก็มีความเสี่ยงว่า IRR จะต่ำกว่านี้ ที่ประชุมจึงให้ทำรายละเอียดให้ชัด รวมถึงให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณามาตรการส่งเสริมโครงการนี้แบบนอกกรอบ เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุน

“โดยเสนอตั้งเป็นองค์การมหาชนมาบริหาร เหมือนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว รัฐบาลอยากให้โครงการนี้เป็นต้นแบบนำร่องการลงทุน PPP เชิงสังคม จึงอยากให้ทำออกมาให้ชัดเจน ไม่อยากให้เวลาเสนอเข้า ครม.แล้วมีข้อติดขัด และหากประสบความสำเร็จด้วยดีก็จะทำให้โครงการด้านสังคมอื่น ๆ อยากทำตาม” แหล่งข่าวกล่าว

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า บอร์ดPPP เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการศูนย์การแพทย์ในรูปแบบ PPP gross costโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ยังมีในรายละเอียดที่บอร์ด PPP เห็นว่ายังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องผลตอบแทน IRR เนื่องจากโครงการนี้รัฐต้องอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลด้วย หากไม่ชัดเจนแล้วจะทำให้ TOR ออกมามีปัญหาติดขัดได้ จึงให้กลับไปปรับปรุงให้ชัดเจนก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำกลับมาเสนอให้พิจารณาใหม่ได้โดยเร็ว

MOU ร.ฟ.ท.เช่าที่ดิน 34 ปี 

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมการแพทย์ได้ขอเช่าพื้นที่ของ ร.ฟ.ท. บริเวณโซน D ติดถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามกับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ใกล้สถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของกรมการแพทย์และศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ วางแผนจะเปิดบริการในปี 2564

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ร.ฟ.ท.และกรมการแพทย์ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อเดือน ม.ค. 2561 และบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติเมื่อต้นปี 2562 ในรายละเอียด MOU ทาง ร.ฟ.ท.จะให้เช่าที่ดินจำนวน 15 ไร่ ในโซน D1ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินย่านพหลโยธินจำนวนกว่า 2,300 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงงานโยธาของ ร.ฟ.ท. เป็นระยะเวลา34 ปี เพื่อพัฒนาเป็นโครงการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ขนาด 510 เตียง โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเช่าจัดหาประโยชน์ 30 ปี คิดค่าเช่ารวม 1,300 ล้านบาท ปีแรกอยู่ที่ 49 ล้านบาท และปรับขึ้น 5% ทุกปีตลอดอายุสัญญาเช่า

ขณะที่กรมการแพทย์จะสร้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร (รถไฟ) อยู่บนที่ดินติดกัน พื้นที่ 10 ไร่ให้ ร.ฟ.ท. โดยหักค่าก่อสร้างจากค่าเช่า เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงที่จะย้ายมาจากย่านมักกะสัน รวมถึงจะมีศูนย์อุบัติภัยทางรางแห่งแรกของประเทศไทย รองรับผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุจากกรณีรถไฟตกรางหรือชนกันให้ด้วย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตามแผนพัฒนาย่านพหลโยธินที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษา จะมีการสร้าง sky desk เป็นทั้งทางเดินและสำหรับรถไฟฟ้าวิ่งบริการ เหมือนกับทางเดินเชื่อมโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยจะให้เอกชนมาพัฒนาสร้างโดยรอบเชื่อมกับอาคารต่าง ๆ

จับตา ปตท.ร่วมเอี่ยว 

ด้านแหล่งข่าวจากกรมการแพทย์กล่าวว่า โครงการนี้เอกชนเป็นผู้ออกแบบ จัดหาเงินมาลงทุนก่อสร้าง จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทั้งหมดวงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 8,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าจัดหาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเอกชนจะเป็นผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์การแพทย์ทุกชิ้นตลอด 30 ปี รวมถึงพื้นที่อาคารและพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในอาคาร เช่น พื้นที่คอมมิวนิตี้มอลล์ ร้านค้าและร้านอาหารที่จะรองรับผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล

“ตอนนี้อยู่ระหว่างเสนอโครงการให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามแผนภายในต้นปี 2563 จะเปิดประมูล เมื่อได้เอกชนผู้ลงทุนแล้ว ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี เป็นอาคารสูง 30 ชั้น อาจจะมี 2 อาคาร และมีทางเชื่อมระหว่างอาคาร คาดว่าจะสามารถเปิดบริการภายในปี 2567 เป้าหมายจะให้ที่นี่เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่ขึ้นอยู่กับกรมการแพทย์ทุกอย่างมาไว้ที่นี่”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเอกชนที่สนใจทั้งบริษัทไทย ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อังกฤษ เยอรมนี ที่มาขอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ซึ่งการยื่นประมูลจะเป็นลักษณะรายเดียวหรือจอยต์เวนเจอร์ก็ได้ และผู้ที่จะลงทุนโครงการนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาล จะเป็นผู้ประกอบการด้านการ maintenanceก็ได้ เช่น บมจ.ปตท. ที่มีแผนจะลงทุนพัฒนาย่านบางซื่ออยู่แล้ว ซึ่งอาจไปจับมือกับต่างชาติมาร่วมลงทุนก็ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้จากข้อมูลของบีโอไอ สำหรับโครงการศูนย์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนได้ทันทีในหมวด 7.28.2 ได้รับ”ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สูงที่สุดรองลงมาจากกลุ่ม A1 ที่ได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีเช่นกัน แต่ไม่จำกัดวงเงิน