“คมนาคม” เร่งศึกษาลดใช้พลังงานรถไฟทางคู่ นำร่อง “จิระ-ขอนแก่น” และ “ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย”

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ ผู้อำนวยการสำนักแผนความปลอดภัย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สนข.ได้เล็งเห็นศักยภาพในการลดใช้พลังงานจากโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายในการลดใช้พลังงานภาคขนส่งภายในปี 2579 ลง 30%

ทั้งนี้การขนส่งด้วยระบบรางช่วยลดการก่อมลพิษจากรถบรรทุกถึง 70% ต่อตันกิโลเมตร จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

เพื่อวิเคราะห์แนวทางและจัดทำแนวทางการติดตามประเมิน Tracking การใช้พลังงานที่ลดได้จากโครงการรถไฟทางคู่ จัดทำข้อมูลฐาน (Baseline Data) ในการคำนวณปริมาณการลดการใช้พลังงานของโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ทั้ง 7 เส้นทาง และจัดทำระบบฐานข้อมูลในการติดตามประเมินการลดการใช้พลังงานจากการใช้รถไฟทางคู่

รวมถึงการสร้างตัวชี้วัดประกอบการประเมินมาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (EEP2015) ที่มีค่าเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งเท่ากับ 30,213 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Ktoe) ในปี2579

โดย สนข.ได้คัดเลือกโครงการรถไฟทางคู่ที่มีการก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ คือ ช่วงจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เป็นโครงการนำร่อง เพื่อประเมินการใช้พลังงานก่อนและหลังเปิดให้บริการและดำเนินการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) การลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 16 เดือน ระหว่างเดือนกรกฏาคม 2562-ตุลาคม 2563

เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินนโยบายตามมาตรการด้านการส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน และมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ภาคขนส่งตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (EEP2015) ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามแผนปฏิบัติการลดก๊าชเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่ง รวมทั้งสามารถตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้า

สำหรับผลการศึกษาเมื่อจัดทำสำเร็จแล้วจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ภาครัฐนำไปกำหนดนโยบายภาคการขนส่งทางรางในระยะยาว คาดว่าหากมีการดำเนินโครงการตามแผนคาดว่าจะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานประมาณ 4,922 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในปี 2579