“ศักดิ์สยาม” สั่งโยกงบฯมอเตอร์เวย์ ทางหลวงเดินหน้าโทลล์เวย์เชื่อมบางปะอิน-โคราช

18 กม. - โครงการส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ (ทางยกระดับดอนเมือง) เชื่อมต่อการเดินทางเข้ากับมอเตอร์เวย์สายอีสาน "บางปะอิน-โคราช" ณ จุดเชื่อมต่างระดับบางปะอิน ความคืบหน้า กำลังทดสอบความสนใจภาคเอกชนหรือ market soundingเพื่อนำไปสู่การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP วงเงินรวม 3.9 หมื่นล้าน

หวั่นงบประมาณถูกริบ “ศักดิ์สยาม” สั่งโยกค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” โปะค่าอุทธรณ์ “บางปะอิน-โคราช” จำนวน 1,700 ล้าน อีก 3,300 ล้านบาทกันไว้จ่ายในปี”63 รอกฤษฎีกาตีความ การกำหนดราคาถูกต้องตาม พ.ร.บ.เวนคืน เผยมีผู้รอค่าชดเชยกว่า 3,000 ราย พื้นที่นครปฐมมากสุด กรมทางหลวงเตรียม PPP ต่อขยายโทลล์เวย์อีก 18 กม. จากรังสิต-บางปะอิน เก็บค่าผ่านทางสูงสุด 60 บาท ดึงเอกชนร่วมลงทุนงานระบบ 5,000 ล้าน แลกรับค่าจ้าง 10 ปี หลังปี”77 รวบประมูลสัมปทานเดียว เจ้าพ่อโทลล์เวย์ประกาศยึดฐานที่มั่นพร้อมลงทุนทุกรูปแบบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงคมนาคมยังมีงบประมาณที่ยังเบิกจ่ายไม่ทันร่วม 30,000 ล้านบาท โดยมีโครงการใหญ่ที่ยังค้างท่ออยู่ 3 โครงการ ในนี้มีโครงการเวนคืนที่ดินของมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของกรมทางหลวง (ทล.) ปัจจุบันยังไม่ได้นำไปใช้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้อนุมัติกรอบวงเงินเวนคืนเพิ่มเติม 8,000 ล้านบาท

ค่าเวนคืนบางใหญ่จ่ายปี’63

จึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวงไปปรึกษาสำนักงบประมาณว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ในแผนงานส่วนอื่นได้หรือไม่ อาจจะนำไปใช้ในค่าอุทธรณ์เวนคืนก่อน 2,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 3,000 ล้านบาทก็จะนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงทางสายอื่น และเพิ่มความปลอดภัยในถนนหนทางต่าง ๆ

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ จะสามารถนำเงินค่าเวนคืนที่ดินจำนวน 5,000 ล้านบาทของมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ยังเบิกจ่ายไม่ทันงบประมาณปี 2562 จำนวน 1,700 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายค่าอุทธรณ์เวนคืนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และส่วนที่เหลือจำนวน 3,300 ล้านบาท จะขอกันการเบิกจ่ายภายในปี 2563 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเวียนมาแล้วให้สามารถกันค่าเวนคืนไปจ่ายในปี 2563 ได้ เพราะต้องรอผลการตีความจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

รอกฤษฎีกาตีความ

เนื่องจากยังรอการขอ ครม.อนุมัติขยายกรอบค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้น 12,534 ล้านบาท จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 17,954 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงจะปรับแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2561 เป็นเงินกันเหลื่อมปี 7,534 ล้านบาท และลดวงเงินค่าก่อสร้างลง 5,225 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนแทน

สำหรับงบฯเวนคืนที่เพิ่มขึ้น ทางสำนักงบประมาณขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ที่กรมทางหลวงเวนคืนโดยใช้คู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 2530 ของกระทรวง โดยนำราคาที่เสนอขายหรือประกาศขายที่ดินมาใช้อ้างอิงในการกำหนดค่าตอบแทน สอดคล้องตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.เวนคืนหรือไม่

“ปัจจุบันยังเหลือจ่ายค่าเวนคืนให้อีกประมาณ 3,000 ราย กระจายไปตามเส้นทาง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม ทั้งนี้ จากการเวนคืนที่ล่าช้า ทำให้การก่อสร้างล่าช้าตามไปด้วย เพราะผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 20.8% จากเป้าหมายตามแผนงาน 82.27% ยังล่าช้าอยู่ 61.47% คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2565”

ยืดโทลล์เวย์ถึงบางปะอิน

นายอานนท์เปิดเผยอีกว่า กรมกำลังเปิดทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (market sounding) โครงการต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับปรุงผลการศึกษาและหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมโครงการ คาดว่าจะสรุปผลศึกษาเบื้องต้นได้ภายในปีนี้

จากนั้นเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการภายในปีนี้ถึงต้นปี 2563 หลังจากนั้นจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนและเริ่มคัดเลือกและได้เอกชนผู้ชนะประมูลและเริ่มสร้างปลายปี 2564 เปิดบริการในปี 2568

จ้างเอกชนบริหารโครงการ 10 ปี

“เบื้องต้นการลงทุนเป็น PPP gross cost ระยะเวลา 10 ปี ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและรับจ้างบริหารโครงการ นับจากปี 2568-2577 จะเป็นช่วงเดียวกับสัมปทานโทลล์เวย์เดิมยังเหลือสัมปทาน 14 ปี จะสิ้นสุดในปี 2577 พอดีเนื่องจากกรมมีแนวคิดที่จะรวมเป็นโครงการเดียวกันและเปิดประมูลใหม่เป็นสัมปทานเดียว รอผลสรุปจากที่ปรึกษาอีกครั้ง”

นายอานนท์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะเวลา 30 ปี จะใช้เงินลงทุน 39,956 ล้านบาท แบ่งงานออกเป็น 2 แบบ คือ งานโยธา 28,135 ล้านบาท และงานวางระบบและการบำรุงรักษา (O&M) 11,821 ล้านบาท งานโยธาก่อสร้างทางขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ มีจุดขึ้นลงและเชื่อมต่อ 8 แห่ง ได้แก่ ด่านรังสิต 1 ด่านรังสิต 2 ด่านคลองหลวง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์ ด่านนวนคร ด่านวไลยอลงกรณ์ ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และด่านบางปะอิน

การลงทุนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ ภาครัฐหรือเอกชนเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน และเอกชนติดตั้งงานระบบตลอดทั้งโครงการ จะครอบคลุมช่วงรังสิต-บางปะอิน และช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต เส้นทางปัจจุบันด้วย โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน จะมีเวนคืนบริเวณแยกต่างระดับ อ.บางปะอิน จำนวน 9 ไร่ หรือ 9 แปลง มีค่าเวนคืน 100 ล้านบาท เพื่อสร้างทางเชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา

ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา ครอบคลุมช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอินด้วย กำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 10-30 ปี

ส่วนค่าผ่านทางกำหนดไว้ในเบื้องต้นสูงสุดไม่เกิน 60 บาท ด้านปริมาณการจราจร จากการวิเคราะห์พบว่า ในปีเปิดให้บริการ คือ ปี 2568 จะมีปริมาณจราจรเข้าระบบเฉลี่ยประมาณ 20,100 เที่ยวคันต่อวัน มีรายได้ค่าผ่านทาง 423 ล้านบาทต่อปี และในปี 2597 ปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 68,800 เที่ยวคันต่อวัน และรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นเป็น 3,031 ล้านบาทต่อปี

โทลล์เวย์นอนมา

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงเปิดเผยเพิ่มเติมว่า รูปแบบการลงทุนส่วนต่อขยายโทลล์เวย์จากรังสิต-บางปะอิน เป็น PPP gross cost ระยะเวลา 10 ปี โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืนที่ดินและก่อสร้างประมาณ 26,608 ล้านบาท และเอกชนจัดเก็บค่าผ่านทางส่งให้รัฐและลงทุนงานระบบและการบำรุงรักษา 10 ปี ประมาณ 5,000 ล้านบาท หลังสิ้นสุดสัญญาแล้ว กรมจะรวบเส้นทางโทลล์เวย์เป็นสัมปทานเดียวกันทั้งหมด ระยะทางรวมกว่า 46 กม. และเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนใหม่และจะมีการลงทุนในการปรับปรุงระบบที่เก่าให้ทันสมัยและการซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนที่มาร่วมประชุมทดสอบความสนใจโครงการมีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, ซูมิโตโม มิซุย ทรัสต์ เป็นต้น ยังมีบริษัทรับเหมาและเอกชนที่สนใจมารับฟัง เช่น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บมจ.ช.การช่าง, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์), บมจ.ราช กรุ๊ป, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ China Harbour Engineering จากประเทศจีน เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมากล่าวว่า คาดว่าดอนเมืองโทลล์เวย์จะมีภาษีที่จะได้รับงานโครงการส่วนต่อขยายนี้ เนื่องจากเป็นการต่อขยายในโครงเดิมที่โทลล์เวย์รับสัมปทานอยู่ และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการที่กรมทางหลวงจะรวบหัวท้ายของโครงการเป็นสัมปทานเดียวที่จะเปิดประมูลในอนาคตด้วย

นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทสนใจจะร่วมลงทุนส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ไปยังบางปะอิน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ต่อเชื่อมกับช่วงที่บริษัทรับสัมปทานจากกรมทางหลวงอยู่แล้ว ทั้งนี้ รอดูนโยบายรัฐจะให้ร่วมลงทุนรูปแบบไหน เช่น จ้างบริหารโครงการ ทั้งนี้ ในสัญญาช่วงที่รับสัมปทานเดิมไม่มีระบุว่าเมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2577 แล้ว จะต้องเจรจาบริษัทเป็นรายแรก หากรัฐดำเนินการเปิดประมูลใหม่ก็สนใจร่วมเช่นกัน