“รถไฟไทย-จีน” …สปีดไม่ทันใจ ประมูลสุดอืด-รื้อ EIA ใหม่

กลายเป็นโปรเจ็กต์ที่มีสไตล์การก่อสร้างแบบ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” สำหรับรถไฟไทย-จีนหรือรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท มี “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนับจากปี 2557 จาก “รัฐบาลประยุทธ์ 1” มาสู่ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” มี “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคนใหม่ พรรคภูมิใจไทยรับไม้ต่อ

ฉุดเบิกจ่าย 1.8 หมื่นล้าน

ผลจากความล่าช้า ยังกระทบชิ่งการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของ ร.ฟ.ท.หลุดเป้าจากในแผนลงทุนทั้งปี 2562 ของ ร.ฟ.ท.อยู่ที่ 76,183.96 ล้านบาท ณ วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาสามารถเบิกจ่ายได้ 26,976.26 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะเบิกจ่ายได้ถึงครึ่งทาง อยู่ที่ประมาณ 45%

ในไส้ในมีรถไฟไทย-จีนเป็นโครงการใหญ่แห่งปี มีเงินลงทุนทั้งปี 20,081 ล้านบาท แต่ทำผลงานเบิกจ่ายได้แค่ 1,029 ล้านบาท ยังตกค้างอยู่ 18,168 ล้านบาท สาเหตุมาจาก ร.ฟ.ท.ยังประมูลก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

ความคืบหน้าล่าสุด แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบผลการประมูลรถไฟไทย-จีน จำนวน 2 สัญญา วงเงินรวม 20,151 ล้านบาท

รับเหมาจีน-ไทยแข่งหั่นราคา

ได้แก่ สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 8,626 ล้านบาท

และสัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ราคากลาง 13,293 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 11,525 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาในเดือน ก.ย.นี้”

ขณะเดียวกันกำลังตรวจสอบผลการเสนอราคาอีก 3 สัญญา รวม 99.26 กม. วงเงิน 33,958 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญาช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า 30.21 กม. เป็นงานระดับดิน 10.18 กม. และยกระดับ 20.03 กม. วงเงิน 11,064 ล้านบาท มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 15.7% หรือ 1,736 ล้านบาท

สัญญาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. เป็นงานระดับดิน 14.12 กม. และยกระดับ 23.33 กม. วงเงิน 11,656 ล้านบาท มี บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เสนอราคาต่ำสุด 9,788 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16% หรือ 1,864 ล้านบาท

และสัญญาช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.60 กม. เป็นงานระดับดิน 7.02 กม. และยกระดับ 24.58 กม. วงเงิน 11,240 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคาต่ำสุด 9,429 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.1% หรือ 1,809 ล้านบาท โดยทั้ง 3 สัญญาผู้รับเหมายื่นต่ำกว่าราคากลาง คิดเป็นวงเงินรวม 9,468 ล้านบาท

เหลือ 3 สัญญา 2 หมื่นล้าน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา เปิดยื่นเสนอราคา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 38,461 ล้านบาท แยกเป็นสัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) มีผู้ยื่นเอกสาร 3 ราย มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 4,279.328 ล้านบาท ต่ำจากราคากลาง 5,359.162 ล้านบาท ประมาณ 25.23% หรือ 1,079.83 ล้านบาท

สัญญาที่ 3-3 งานโยธา ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง มีผู้ยื่นเอกสาร 8 ราย โดยบริษัท กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,838 ล้านบาท ต่ำกว่าจากราคากลาง 12,043.417 ล้านบาท อยู่ที่ 22.42%หรือ 2,205.41 ล้านบาท

สัญญาที่ 3-5 งานโยธา ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มีผู้ยื่นเอกสาร 5 ราย มีบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 7,750 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 9,257.373 ล้านบาท อยู่ที่ 19.45% หรือ 1,507.373 ล้านบาทและสัญญา 4-5 งานโยธาช่วงบ้านโพ-พระแก้ว มีผู้ยื่นเอกสาร 7 ราย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,913 ล้านบาท ต่ำจากราคากลาง 11,801.216 ล้านบาท อยู่ที่ 19.05% หรือ 1,888.216 ล้านบาท โดยผลประมูลภาพรวมทำให้ ร.ฟ.ท.ประหยัดค่าก่อสร้างไปได้รวม 6,680 ล้านบาท

ยังเหลือสัญญางานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,093.037 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ระยะทางกว่า 10 กม.ที่ยังไม่ออกประกาศทีโออาร์ ส่วนอีก 1 สัญญาที่ออกประกาศใหม่จะเคาะราคาภายในกลางเดือน ก.ย.นี้ คือ สัญญาช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 10,421.014 ล้านบาท โดยทั้งหมด ร.ฟ.ท.จะให้ได้ผู้รับเหมาภายในสิ้นปีนี้

ถกจีนเร่งสัญญางานระบบ

ขณะที่สัญญา 2.3 งานระบบราง ไฟฟ้าและครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 50,633 ล้านบาท รอเจรจาจีนให้ยุติเพื่อระบุลงในสัญญาจะเสนอ ครม.เซ็นสัญญาต่อไป

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟไทย-จีนยังติดการเจรจากับจีนในสัญญาที่ 2.3 เป็นงานระบบ วงเงิน 50,633 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงทำให้ไม่สามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาเพื่อเซ็นสัญญาร่วมกันได้ ทั้งนี้ตนและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานกระทรวงคมนาคม จะนำรายละเอียดที่ไม่มีข้อสรุปร่วมกันไปหารือกับทูตจีนประจำประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนต่อไป จะเร่งให้มีการเซ็นสัญญาภายในเดือน พ.ย.นี้

“มั่นใจว่าการเจรจาจะมีข้อยุติร่วมกัน เพราะทั้งฝ่ายไทยและจีน ต้องการให้โครงการเกิดและเดินหน้า เร่งให้รถไฟรวบรวมรายละเอียด รวมถึงร่างสัญญาที่อัยการสูงสุดมีความเห็นเพิ่มเติม ติดแค่เรื่องถ้อยคำในร่างสัญญาที่จีนอาจรู้สึกว่าเป็นการผูกมัด ส่วนการประมูลให้รถไฟเร่งงานที่เหลือให้เสร็จ ก.ย.-ธ.ค.นี้”

เวนคืนที่ดินไม่ได้ติด EIA

ระหว่างที่ ร.ฟ.ท.กำลังเร่งการประมูลให้จบ ยังมีเรื่องของ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินที่จะต้องเวนคืนที่ดิน 2,800 ไร่ วงเงิน 13,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคลอดออกมาได้ ติดการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติมช่วงลำตะคอง หลังมีปรับแบบก่อสร้างจากระดับเป็นอุโมงค์แทน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A จะกระทบต่อแผนการก่อสร้างไม่มากก็น้อย


ถึงขณะนี้ทั้งโครงการสร้างได้ 3.5 กม. ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก กำลังเดินหน้าอีก 11 กม. ส่วนที่เหลือรอผล EIA ที่ทำเพิ่ม และเวนคืนที่ดิน ยังไม่รู้จะคิกออฟได้ในปี 2563 หรือไม่ ในเมื่ออุปสรรคปัญหามีมากกว่าที่คิด