กพท. จี้ เซ็นทรัลแจงอีเวนต์ยิบ ปมบุกรุกถนน 370 ไม่จบถกต่อครั้งหน้า

“เซ็นทรัล วิลเลจ” ไม่จบง่าย “นิตินัย ศิริสมรรถการ” สั่งฝ่ายกฎหมาย อุทธรณ์ ภายใน 30 วัน กพท.ร่อนหนังสือถึง “ซีพีเอ็น” สั่งแจงอีเวนต์ใน 60 วัน หวั่นรบกวนการบิน เผยถนน 370 ยังไม่ได้ข้อสรุปใครจะเป็นเจ้าภาพดูแล สัปดาหน้าประชุมอีกรอบ

ที่ผ่านมา แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. รื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากบริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ และทำให้จะสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนด ในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าถึงวันนี้ ข้อพิพาทระหว่างเซ็นทรัลและ ทอท.ในโครงการนี้จะยังไม่จบลงง่าย ๆ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียดคำสั่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักเซอรี่ เอาต์เลต เพื่อจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ส่วนกรณีที่เซ็นทรัลฟ้องเรียกค่าเสียหาย 150 ล้านบาท ก็จะต้องมีการต่อสู้คดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ตอนนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องลงมาดู ทั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ กพท. ดู พ.ร.บ.ทางเดินอากาศ ดูความปลอดภัยด้านการบิน กรมโยธาธิการและผังเมือง ดูผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาการ พ้นหน้าที่ ทอท.แล้ว หลังไม่มีอำนาจดูแลที่ราชพัสดุที่กรมทางหลวงใช้สร้างถนน 370 อย่างที่กรมธนารักษ์มอบอำนาจให้ ทอท.ดูแลเมื่อเดือนมกราคม 2562

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.ได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องการตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับความปลอดภัยทางการบินจากการเปิดให้บริการโครงการเซ็นทรัล วิลเลจมาให้ กพท.พิจารณาแล้ว จะให้เซ็นทรัลพัฒนาไปสำรวจว่ามีกิจกรรมส่งเสริมการขายอะไรบ้างที่จะดำเนินการ และเสี่ยงทำให้เกิดอุปสรรคต่อความปลอดภัยทางการบิน เช่น งานอีเวนต์ที่ใช้แสง สี เสียง อาจจะกระทบต่อนักบิน จัดเทศกาลอาหาร ลานเบียร์ ที่จะดึงดูดนกเข้ามารบกวนทัศนวิสัยทางการบิน เป็นต้น โดย กทพ.ได้ส่งหนังสือแจ้งเซ็นทรัลไปเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา และให้เวลาตรวจสอบและตอบกลับภายใน 60 วัน หากเซ็นทรัล วิลเลจจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาช่วยตรวจสอบด้วยหรือไม่ นายจุฬากล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะ ICAO คงไม่ตรวจเซ็นทรัล วิลเลจเพียงจุดเดียว

ที่ผ่านมา กพท.เคยตรวจสอบและแจ้งไปแล้วว่าไม่มีผลต่อความปลอดภัยทางการบิน อยู่ในระยะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน สิ่งที่ ICAO จะดูเป็นมาตรฐานโดยรวมของความปลอดภัยการบินมากกว่า เช่น การบริการภายในสนามบิน ความรวดเร็วของด่านตรวจคนเข้าเมือง

“การตรวจสอบของ กพท. จะทำให้เกินมาตรฐานที่ ICAO กำหนดไว้ตลอด อย่างเซ็นทรัล วิลเลจเราได้ตรวจสอบพร้อมอาคารอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในรัศมี 16 กม. นับจากหัวท้ายของรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่าไม่มีผลต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน ส่วนเรื่องแสง เสียง ควัน หรือนก ตั้งแต่เปิดวันที่ 31 ส.ค. จนถึงขณะนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร คาดว่าปัญหาจะเกิดขึ้นช่วงที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากกว่า ก็ให้เซ็นทรัลไปลิสต์รายการแจงมา” นายจุฬากล่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามเรื่องที่ กพท. ให้ชี้แจงรายละเอียดการจัดกิจกรรม ไปยังบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ได้รับคำตอบเพียงสั้นๆ ว่า บริษัทพร้อมจะปฎิบัติตามข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อย่างเคร่งครัด

นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะทำงานด้านการแก้ปัญหาข้อพิพาททางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 สายทางเข้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ข้อสรุป

ในเบื้องต้นว่า ให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุแต่เดิมจากกรมธนารักษ์ ตัดสินใจว่าจะยังเป็นผู้ใช้ประโยชน์ถนนเส้นดังกล่าวอยู่หรือไม่ หากจะไม่เป็นผู้ใช้ประโยชน์แล้วก็ทำเรื่องโอนถนนเส้นนี้กลับคืนให้กรมธนารักษ์ แต่หากตัดสินใจที่จะเป็นผู้ใช้ประโยชน์ถนนเส้นดังกล่าวต่อก็โอนกลับให้กรมธนารักษ์ จากนั้นกรมทางหลวงจะขอรับโอนถนนจากกรมธนารักษ์เพื่อเป็นผู้ดูแลรักษาต่อไป

ภายในสัปดาห์หน้าจะประชุมติดตามความก้าวหน้า คาดว่าภายในปีนี้จะสรุปได้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในการดูแลถนนเส้นนี้ จากนั้นให้ เซ็นทรัลวิลเลจ มาขออนุญาตต่อไป จากปัจจุบันอนุญาตให้เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอสรุปว่าใครต้องผู้เป็นผู้ดูแล ถนน 370

“เดินถนนเส้นดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเวนคืน และมอบให้กรมท่าอากาศยานเป็นผู้เวนคืนและเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีแผนก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ดินดังกล่าวถูกขึ้นเป็นที่ดินราชพัสดุ มีกรมธนารักษ์เป็นเจ้าของ แต่ยังให้กรมท่าอากาศยานเป็นผู้ใช้ประโยชน์อยู่ ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2543-2544 ให้กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนเชื่อมสนามบินด้านใต้ โดยถนนเส้นนี้มีความยาว 2.7 กม. ขนาด 4 เลน ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2547 และกรมทางหลวงเป็นผู้บำรุงดูแลเรื่อยมา” นายอภิชาติกล่าว