โอกาสในวิกฤต! ทางหลวงชนบทใช้ยางพาราสร้างถนนสาย4026 จ.นครพนม ทดสอบความคงทนสู้อุทกภัย

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดําเนินโครงการต้นแบบทดสอบความคงทนของคันทางต่อสภาวะอุทกภัย โดยใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงชนบท นพ.4026 บ้านยอดทดวัด – วัดโฆสมังคลาราม อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของถนน และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภายในประเทศ

นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้รายละเอียดว่า ถนนสายดังกล่าวเป็นเส้นทางลัดจากอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ไปสู่อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร และไปสู่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม รวมทั้งเป็นเส้นทางเข้าสู่วัดโฆสมังคลาราม (วัดหลวงปู่คำพันธ์) ที่มีพระมหาธาตุเจดีย์โฆสปัญโญศรีพนม อันเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา โดยในช่วงฤดูฝนสายทางดังกล่าวจะได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมบริเวณผิวทางเป็นประจำ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนาให้ประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่สัญจรไป-มา ให้ได้รับความสะดวกในทุกฤดูกาล ทช.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว เป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้าง 6 เมตร พร้อมไหล่ทางกว้างข้างละ 1 เมตร ระยะทาง 11.108 กิโลเมตร ซึ่งโครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นโครงการจัดทำแปลงทดลอง (Test Section) และเป็นโครงการต้นแบบทดสอบ (Prototype) ของการออกแบบและก่อสร้างถนนดินลูกรังปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภทที่ 1 น้ำยาประสาน น้ำยางพารา และน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อการเปรียบเทียบโครงสร้างทางที่ทนต่อแรงดันน้ำใต้ดินและในสภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อทดสอบความคงทนของคันทางต่อสภาวะน้ำท่วม

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเรียบร้อยแล้ว โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 51.168 ล้านบาท