เชื่อมเมือง “อุดร-หนองคาย” สะพาน-ทางลอดคืบ 90% “ทางหลวง” เร่งเปิดใช้ปีใหม่ปีหน้า

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

วันก่อนมีโอกาสเดินทางไปยัง “อุดรธานี” ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสานเหนือ ติดกับจังหวัดหนองคาย มีการค้า-การลงทุนผ่านชายแดนไปยัง “เวียงจันทน์” สปป.ลาว มีมูลค่าแต่ละปีมหาศาล

ทำให้ “อุดรธานี” ได้รับอานิสงส์ดัชนีการค้าคึกคัก มีห้างยักษ์ “เซ็นทรัล พลาซา” ไปปักหมุด รับกำลังซื้อจากฝั่งลาว

มีการพยากรณ์จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจังหวัดอุดรธานี คาดการณ์เศรษฐกิจในจังหวัดปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ 3%

อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีสนามบินที่มีผู้โดยสารและเที่ยวบินมากที่สุดในภาคอีสาน ในอนาคตจะก้าวสู่การเป็นฮับการบินของภาคอีสานตอนบนเชื่อมกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ขณะเดียวกัน ด้วยเป็นจังหวัดใหญ่ทำให้มีปัญหาการจราจรเช่นกัน

ปัจจุบัน “ทล-กรมทางหลวง” กำลังเดินหน้าโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2-กับถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี (ด้านเหนือ) จ.อุดรธานี ด้วยวงเงินกว่า 1,048 ล้านบาท

มี “ห้างหุ้นส่วนจำกัด นภาก่อสร้าง” เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเริ่มเปิดไซต์งานตั้งแต่ปี 2560 ล่าสุดงานก่อสร้างคืบหน้า 90% คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนปีใหม่ 2563

จุดที่ตั้งของโครงการอยู่ทางแยกจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 2 สายอุดรธานี-หนองคาย กับทางหลวงหมายเลข 216 หรือถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านเหนือ จ.อุดรธานี ที่ กม.15+330.000 ถึง กม.17+393.000 ทางหลวงหมายเลข 216 หรือถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีที่ กม.119+630.000 ถึง กม.121+400.000 ทางหลวงหมายเลข 2

รายละเอียดโครงการประกอบด้วย งานก่อสร้างสะพานยกระดับคู่กันสองสะพานข้ามทางแยก ทางลอดขนาดรวม 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 990 เมตร โครงสร้างกำแพงกันดิน diaphragm wall หนา 0.80 เมตร ความลึก 14-20 เมตร สะพานลอยคนเดินข้ามจำนวน 4 แห่ง สร้างคันทางใหม่และขยายคันทางเดิมบนทางหลวงหมายเลข 2 และทางหลวงหมายเลข 216 ระยะทางรวม 3.833 กม.

ยังมีอาคารควบคุมระบบไฟฟ้าและระบบสูบน้ำ งานอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย งานประติมากรรม งานปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางแยกและเกาะกลาง งานไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายจราจร งานสีตีเส้นจราจร งานวางท่อระบายน้ำในทางลอดและบนสะพาน

ไฮไลต์ของโครงการนี้จะมีสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ผนังอุโมงค์ทางลอดให้สอดรับกับศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของท้องถิ่น ในเบื้องต้นจะเป็นลายขันหมากเบ็งในผ้าขิด ส่วนเสาสะพานทางข้ามจะนำเอกลักษณ์ไหบ้านเชียงมาใช้ เป็นแลนด์มาร์กให้กับเมืองอุดรธานี

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัดดังกล่าวให้เกิดความคล่องตัวของการสัญจร รองรับปริมาณจราจรในอนาคต ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย

รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านเหนือ ให้ผ่านจุดตัดทางแยกได้โดยไม่ต้องหยุดรอสัญญาณไฟจราจรแต่อย่างใด สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง 3 จังหวัด ทั้งอุดรธานี หนองคาย และสกลนคร

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!