รถไฟโดดอุ้ม”ซีพี” เซ็นสัญญาไฮสปีด ก่อนส่งมอบพื้นที่

แฟ้มภาพ
ร.ฟ.ท.อุ้ม ซี.พี.เซ็นสัญญาไฮสปีด3 สนามบิน ให้เวลา 3 สัปดาห์เคลียร์พันธมิตร ชงบอร์ดเปิดทางยืดเวลาเริ่มงานก่อสร้างเมื่อพร้อม ขอเวลา 2-3 ปีส่งมอบพื้นที่ 4 พันไร่ คาดสร้างเกิน 5 ปี หวั่นค่าโง่โผล่ จ่ายดอกเบี้ย ค่าปรับบาน หากงานไม่เสร็จตามเป้า “เลขาฯอีอีซี” ยันเอกชนไม่ถอดใจ ลั่นทุกอย่างจบ ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดยื่นซองประมูลตั้งแต่ 12 พ.ย. 2561 รูปแบบ PPP net cost เวลา 50 ปี โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ชนะและร่วมลงทุน 117,227 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 28 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญา

ซี.พี.ขอเวลาเคลียร์

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อ 9 ก.ย.ได้หารือกับกลุ่ม ซี.พี. หลังส่งร่างมอบพื้นที่ก่อสร้างให้พิจารณา เบื้องต้นเห็นชอบด้วยกับแผน ร.ฟ.ท. แต่มีข้อเสนอเพิ่ม 20 หน้ากระดาษที่ให้ ร.ฟ.ท.นำมาพิจารณา เรื่องส่งมอบพื้นที่ที่ยังเป็นปัญหา เช่น กำหนดเครื่องมือชี้วัดโครงการ (KPI) ในการเปิดบริการต้องทำความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายภายในกี่ปี จากเดิมเปิดปีที่ 6 ซึ่งวันที่ 11 ก.ย.คณะกรรมการจะประชุม เมื่อได้ข้อยุติก็จะลงนามในสัญญาได้

“ทุกคนกังวลเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ต้องทำให้รอบคอบ ให้เข้าใจตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเป็นความเสี่ยงทั้งรัฐและเอกชน ตอนนี้ ซี.พี.ขอนำผลหารือให้พันธมิตรไทยและต่างประเทศรับทราบ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการของแต่ละบริษัทเห็นชอบ จะใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ซึ่งเป้าหมายการเซ็นสัญญาคือเดือน ก.ย.ปีนี้ ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนด ถ้าไม่ได้ต้องรายงานข้อเท็จจริงให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับทราบ”

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ในฐานะประธานคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทั้ง ร.ฟ.ท.และ ซี.พี.เห็นตรงกันว่า จะร่วมลงนามในสัญญาไปก่อน จะยังไม่ส่งหนังสือให้เริ่มต้นทำงาน (notice to proceed : NTP) ของโครงการให้ เพื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะได้มีเวลาเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย ดังนั้นจะทำให้เงื่อนไขการนับเวลาเริ่มก่อสร้างต้องยืดออกไปจากเดิมกำหนด 5 ปี

“คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณารายละเอียด พร้อมส่งมอบและเคลียร์ผู้บุกรุก ที่ดินเวนคืน ระบบสาธารณูปโภค อาจเซ็นสัญญาไปก่อน ส่วนการเริ่มโครงการก็รอจนกว่าแผนส่งมอบพื้นที่ชัดเจน ซึ่งเราบอกว่าใช้เวลา 1-2 ปี แต่ ซี.พี.ขอ 2-3 ปี ซึ่งการรีบออกหนังสือให้เริ่มงานทันทีที่เซ็นสัญญา ทาง ซี.พี.ก็เสี่ยง หากเริ่มงานแล้วโครงการสะดุด จะมีค่าใช้จ่ายตามมา”

พื้นที่สร้างติดปัญหา

สำหรับพื้นที่ที่เป็นอุปสรรค ทาง ร.ฟ.ท.จะเร่งเคลียร์ ส่วน ซี.พี.จะรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคที่กีดขวางแนวเส้นทางร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคนั้น ๆ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะช่วยดำเนินการ ทั้งโครงการจะใช้พื้นที่ก่อสร้าง 3,571 ไร่ รวมเวนคืนอีก 850 ไร่ เป็น 4,421 ไร่ พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ หรือคิดเป็น 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ยังมีพื้นที่อุปสรรค 2 ส่วนคือ ที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุก 513 ราย พื้นที่เช่า 83 สัญญา 210 ไร่ ส่วนสถานีมักกะสันส่งมอบได้ 100 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ ยังมีรื้อย้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซบริเวณคลองแห้งและโค้ง ถ.พระราม 6, ท่อน้ำมัน บจ.ท่อส่งปิโตรเลียมไทย (แทปไลน์) ช่วงลาดกระบัง กม.68 มุ่งหน้าอู่ตะเภา เป็นแนวยาว 40 กม., ท่อก๊าซ ปตท.หน้าวัดเสมียนนารี-สนามบินดอนเมือง 11 กม., ท่อระบายน้ำ กทม.บริเวณสามเสน คาดใช้เวลาส่งมอบพื้นที่ใน 2-3 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.และ ซี.พี.กำลังเร่งส่งมอบพื้นที่ให้จบภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเดินหน้าเซ็นสัญญา ซึ่งการส่งมอบพื้นที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทั้งรื้อย้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ดิน

“ซี.พี.ยังไม่ถอดใจ เพราะโครงการเดินหน้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ติดแผนส่งมอบพื้นที่ ร.ฟ.ท.ก็กลัวถูกฟ้องถ้าส่งมอบไม่ทัน เอกชนก็กลัวถูกปรับ ถ้างานไม่เสร็จตามกำหนด จึงต้องเร่งเคลียร์”