นายวรวุฒิ มาลา รักษาการณ์ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการหารือกันใน 2 ประเด็นคือ การส่งมอบพื้นที่และการกำหนดตัวชี้วัดโครงการ (KPI)
โดยมีมติเห็นชอบให้มีการลงนามในสัญญาก่อนที่จะส่งมอบหนังสือให้เริ่มต้นงาน (Notice to Proceed: NTP) เพื่อให้มีเวลาสำหรับดำเนินการเรื่องพื้นที่อุปสรรคทั้งหมดและทำให้ยังไม่ต้องนับระยะเวลาก่อสร้างที่กำหนดไว้ 5 ปีด้วย ซึ่งตาม RFP (ทีโออาร์)สามารถยืดเวลาการส่งหนังสือ NTP ได้ 1 ปีนับแต่วันที่มีการลงนาม และขอขยายเวลาได้ตามความเหมาะสม โดยทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันก่อน
จะส่งรายละเอียดของสัญญาในส่วนเอกสารแนบท้ายที่มีรายละเอียดของการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในฐานะเอกชนที่ได้รับคัดเลือกภายในสัปดาห์นี้ จะให้เวลาทำหนังสือตอบกลับภายในสัปดาห์หน้า พร้อมกับให้กำหนดวันที่จะลงนามในสัญญาแนบมาด้วย
โดยกำชับกับกลุ่ม CPH ไปแล้วว่านโยบายของรัฐบาลให้ลงนามในเดือนก.ย.นี้ แต่ถ้ามีเหตุผลที่ต้องเลื่อนลงนามออกไปก็ให้แจ้งมา ส่วนร.ฟ.ท.จะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าของโครงการต่อไป ส่วนจะลงนามได้เมื่อไหร่ ต้องรอความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
“ที่ใช้เวลาพิจารณานาน เพราะเอกสารแนบท้ายสัญญาจะเป็นส่วนกำหนดรายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ทุกอย่าง จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบ อีกทั้งมีการปรับแก้ถ้อยคำพวก “และ/หรือ” บางจุด รวมถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการอื่น เช่น คลองแห้ง, ตอม่อโฮปเวลล์ และช่วงบางซื่อ – ดอนเมืองด้วย”
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค มี 6 หน่วยงาน และมีสัญญาเช่าที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 300 สัญญา โดยระบบสาธารณูปโภคเจ้าของหน่วยต้องเป็นผู้ดำเนินการเองเรื่องค่าใช้จ่าย โดยร.ฟ.ท.กับกลุ่ม CPH จะทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงแจ้งกับหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคต่างๆว่า ต้องรื้อย้ายจุดใดบ้าง
ในส่วนของปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ช่วงคลองแห้งที่ทับซ้อนกับสายสีแดง และช่วงบางซื่อ – ดอนเมืองที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตามทีโออาร์ให้CPHดำเนินก่อน ยังมีเวลาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เพราะถ้ารถไฟไทย-จีนพร้อมก็สร้างไปก่อน
กรณีเสาตอม่อโฮปเวลล์นั้น งบดำเนินการบางส่วนจะอยู่ในส่วนเงินที่รัฐอุดหนุนซึ่งกลุ่ม CPH เสนอที่ 117,227 ล้านบาท โดยกลุ่ม CPH ต้องเป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่การจ่ายค่าสิทธิ์การใช้แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มูลค่า 10,671 ล้านบาท มีกำหนดใน RFP ว่า การชำระเงินต้องทำภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามในสัญญาซึ่งCPHจะจ่ายเดือนสุดท้ายก็ได้