เร่งขยาย “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” “ศักดิ์สยาม” ลุยเปิดเทอร์มินอลใหม่ปี’63

หลัง “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวง จัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หลังมีเสียงท้วงติงว่าไม่เป็นไปตามแผนแม่บทเดิม

“ตามข้อเท็จจริงต้องมีการขยายและพัฒนา เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเป็นไปตามหลักสากล ฟังเสียงจากหลายฝ่ายถึงข้อดีข้อเสียมาประกอบกัน ยังไงก็ต้องสร้างเทอร์มินอล 2 แต่จะสร้างอย่างไรค่อยว่ากัน มีปรับรูปแบบมาหลายครั้งแล้ว ต้องเอาแผนแม่บทเดิมมาดูด้วย”

ล่าสุด “ศักดิ์สยาม” สั่ง “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รู้มาให้ความเห็นรอบด้าน ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ – นิตินัย ศิริสมรรถการ

สร้างแน่เทอร์มินอล 2

“หลักการเทอร์มินอล 2 มีความจำเป็นต้องสร้าง เพราะผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิเกินขีดความสามารถ ปัจจุบันอยู่ที่ 63 ล้านคน/ปี จากที่รับได้ 45 ล้านคน/ปี แต่จะสร้างตรงไหน ที่บอกว่าไม่อยู่ในแผนแม่บทนั้นเพราะอะไร ก็มาพิจารณาร่วมกัน”

สำหรับแผนก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ตามแนวคิดของ “ทอท.” จะก่อสร้างบริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A ของสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 42,081.564 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 380,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปีพร้อมขอสลับแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (east expansion) วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (west expansion) วงเงิน 6,600 ล้านบาทก่อน เพื่อไม่ให้กระทบการบริการระหว่างมีการก่อสร้าง

สวนทางกับการพิจารณาของ “บอร์ดสภาพัฒน์” ให้ยึดตามแผนแม่บทเดิมปี 2536 ให้ขยายอาคารผู้โดยสารเดิมฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ฝั่งละ 15 ล้านต่อปี รวม 30 ล้านคนต่อปีเช่นกัน

เร่งทะลวงคอขวดผู้โดยสารล้น

ระหว่างรอให้ “เทอร์มินอล 2” สะเด็ดน้ำ คาดว่าจะใช้เวลาอีกพักใหญ่ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า “ทอท.” มีแผนแก้คอขวดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่ง “ศักดิ์สยาม” ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง หลัง “บิ๊กตู่” สั่งการให้เร่งแก้ปัญหา การตรวจลงตราวีซ่าเพื่อเข้าประเทศ (VOA) จุดตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าที่ผู้โดยสารรอคิวนาน

เนื่องจากปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเป็น 63 ล้านคนต่อปี เกินจากที่รองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี มีช่องตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า 93 ช่อง รองรับผู้โดยสารได้ 6,000 คนต่อชั่วโมง จะต้องทำให้รองรับได้ 7,600 คนต่อชั่วโมง

โดย “ศักดิ์สยาม” สั่งการให้นำระบบ CCTV เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการผู้โดยสาร พร้อมปรับช่องทางตรวจผู้โดยสารช่องทางที่ไม่ได้เปิดใช้ตลอดเวลาให้เปิดช่วยรับผู้โดยสาร ในช่วงที่ช่องทางเปิดใช้เดิมมีความแออัด และจัดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่รับผู้โดยสารมายังจุดบริการ VOA เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ด้าน “ทอท.” แก้ปัญหาเร่งด่วนที่ “ทำได้ทันที” ในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่รับผู้โดยสารที่บริเวณประตูทางเข้านำสู่จุดบริการตรวจคนเข้าเมือง และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เพิ่มพื้นที่ตรวจวีซ่า

มาตรการแก้ปัญหาระยะกลาง จะเริ่มภายในปี 2563 จะปรับเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง เพื่อเพิ่มช่องตรวจและพื้นที่ให้บริการ VOA โดยขยายสวนไผ่ภายนอกอาคารประมาณ 800 ตร.ม. รองรับผู้โดยสาร VOA และปรับปรุงพื้นที่ตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า เพิ่มเครื่องตรวจอัตโนมัติอีก 8 เครื่อง ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว เร่งสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2

ส่วนขาออก จะแก้ปัญหาด้วยการย้ายจุดตรวจค้นผู้โดยสารภายในประเทศไปยังอาคารเทียบเครื่องบิน A และ B เพิ่มช่องตรวจและจุดตรวจผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดย “ทอท.” มั่นใจว่าจะทำให้ลดเวลาคอยหน้าด่านของผู้โดยสาร VOA เหลือ 25 นาที หากแก้ได้อย่างเต็มระบบจะเหลือ 20 นาที

ปลายปี’63 เปิดใช้อาคารหลังใหม่

นอกจากนี้ จะเร่งการก่อสร้างขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 เงินลงทุน 51,862 ล้านบาท ให้เสร็จตามแผนภายในเดือน เม.ย. 2563 จากนั้นจะทดสอบระบบเพื่อเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2563

ปัจจุบันกำลังโหมก่อสร้างแต่ละแผนงานอย่างหนัก ซึ่งผลงาน ณ วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา โครงการก่อสร้าง “อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1” (ชั้นใต้ดิน) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ 12,050 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 14 ก.ย. 2559 มีความคืบหน้า 99.84 % ทาง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จะส่งมอบงานภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เมื่อเสร็จจะมี 28 หลุมจอด พื้นที่ลานจอด 250,000 ตร.ม. รองรับเครื่องบิน A380 ได้พร้อมกัน 8 ลำ และอื่น ๆ อีก 20 ลำ ในเวลาเดียวกัน

“อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1” (ชั้น 2-4) และระบบย่อยส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ 14,235 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 7 ก.พ. 2561 คืบหน้า 41.80% จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2563 เป็นอาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 216,000 ตร.ม. และร้านค้า 20,000 ตร.ม.

สร้างที่จอดรถเพิ่มพันคัน

“อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก” วงเงิน 970 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีบริษัท พระราม 2 การโยธา จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มงานเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คืบหน้าแล้ว 0.62% จะเสร็จในเดือน พ.ย. 2563 เป็นอาคารสำนักงานพร้อมที่จอดรถในพื้นที่ ด้านหน้าเป็นสำนักงานสูง 4 ชั้น พื้นที่ 35,000 ตร.ม. ด้านหลังเป็นอาคารที่จอดรถสูง 5 ชั้น ดาดฟ้า 1 ชั้น พื้นที่ 32,000 ตร.ม. จะสามารถจอดรถได้ 1,000 คัน พร้อมสร้างทางเดินรถเชื่อมต่ออาคารจอดรถที่อยู่ด้านข้างและสร้างทางเดินเท้าเชื่อมต่อกับชานชาลา ด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร

“งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค” วงเงิน 1,980 ล้านบาท ของกลุ่มเอสจี แอนด์ อินเตอร์ลิ้งค์ เริ่มงานวันที่ 14 ก.ย. 2559 คืบหน้า 71.36%

“ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ” (APM) 2,999 ล้านบาท ของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี เริ่มงานวันที่ 20 พ.ย. 2560 คืบหน้าแล้ว 18.07% จะเสร็จวันที่ 7 เม.ย. 2563 จะมีรถบริการ 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รวม 12 ตู้ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. รับส่งผู้โดยสารอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 กับอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน รับผู้โดยสารได้ 210 คนต่อขบวน หรือ 6,000 คนต่อชั่วโมง

“ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า” และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดขาออก 3,646 ล้านบาท ของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานล็อกซเล่ย์-แอลพีเอส เริ่มงานวันที่ 9 ก.พ. 2561 คืบหน้าแล้ว 15.89% จะเสร็จวันที่ 28 เม.ย. 2563

ส่วนงาน “ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า” และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดขาเข้า วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท จะเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. เพื่อประกาศประกวดราคาในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ตามแผนจะเสร็จปลายปี 2564

ผุดอาคารรับกรุ๊ปทัวร์ดอนเมือง

ขณะที่ “สนามบินดอนเมือง” ก็มีปัญหาไม่ต่างจาก “สุวรรณภูมิ” จากสายการบินโลว์คอสต์ที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการ 40 ล้านคนต่อปี เกินจากขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี

มีคอขวดในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า บริเวณจุดตรวจสอบหนังสือเดินทาง VOA ในระยะเร่งด่วน “ทอท.” จะเพิ่มพื้นที่ให้บริการ VOA ขณะที่ผู้โดยสารขาออกจะเพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินในอาคารผู้โดยสาร 1 จำนวน 16 เคาน์เตอร์ จะเสร็จ ก.ย.นี้ เพิ่มประสิทธิภาพในการเช็กอิน 15% และการขยายพื้นที่ bus gate สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ

ระยะต่อไปในปี 2563 จะสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารสำหรับกรุ๊ปทัวร์ วงเงินกว่า 200 ล้านบาท รองรับได้ 1,200-3,000 คน/ชั่วโมง เพิ่มพื้นที่รอตรวจหนังสือเดินทาง เพิ่มช่องตรวจผู้โดยสารระหว่างประเทศ 4 ช่อง รวมเป็น 12 ช่อง และเพิ่มพื้นที่จัดทำแบบการขอ VOA อีก 693 ตร.กม. เพิ่มช่องตรวจหนังสือเดินทางอีก 12 ช่องตรวจ รวมเป็น 51 ช่องตรวจ จะเสร็จในเดือน ก.ย. ปีหน้า

ทุ่ม 3 หมื่นล้านขยายเฟส 3

ในระยะยาวมีแผนขยายสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท มีขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ ปรับปรุงหลุมจอดด้านทิศเหนือ 12 หลุมจอด ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เพิ่มอาคารจอดรถ โรงแรม ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ตามแผนจะเสร็จในปี 2567 รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบิน 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

เป็นแผนพัฒนาของ 2 สนามบินหลัก ในการเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้อีกไม่น้อยกว่า 150 ล้านคน ใน 3 ปีข้างหน้า