คมนาคมจัดเต็ม “โมโตจีพี 2019” เปิดการเดินทางทุกโหมด รับ 2 แสนคน กระหึ่ม “บุรีรัมย์”

2562 นับเป็นปีที่ 2 ของประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก “โมโตจีพี 2019” ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 4-6 ต.ค.นี้ มีการคาดการณ์ตลอด 3 วันจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวมาร่วมงานประมาณ 220,000 คน เป็นคนไทยกว่า 150,000 คน ต่างชาติอีกกว่า 50,000 คน และเงินสะพัดกว่า 3,000 ล้านบาท

บรรยากาศปีนี้คึกคักเป็นพิเศษ เพราะมี 2 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ร่วมแรงร่วมใจรันงาน ทั้ง “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ที่เป็นทั้งเจ้าถิ่นและเจ้ากระทรวงคมนาคม จัดสรรพกำลังเตรียมพร้อมรับ “นักแข่ง-คลื่นคน-ถนนทุกสาย” มุ่งไปยังเมืองบุรีรัมย์ ที่วันนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวและกีฬา

ส่องเส้นทางการคมนาคม งานนี้มี “จิรุตม์ วิศาลจิตร” รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ที่ได้รับการโปรโมตเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้จัดประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

“จิรุตม์” กล่าวว่า ได้เตรียมการขนส่งอุปกรณ์การแข่งขันทั้งหมด เช่น ตัวรถมอเตอร์ไซค์ อะไหล่ ได้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร ตรวจสอบและปล่อยอุปกรณ์อะไหล่ต่าง ๆ และตำรวจทางหลวง อำนวยความสะดวก พร้อมกับจัดเตรียมพื้นที่คาร์โก้ที่สนามบิน

สุวรรณภูมิสำหรับให้นักแข่งขนอุปกรณ์และโครงสร้างหลักของรถมอเตอร์ไซค์มาทางเครื่องบิน ส่วนอะไหล่และเครื่องมือซ่อมจะขนส่งมาทางเรือ ได้จัดพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังไว้รองรับ ส่วนขากลับจาก จ.บุรีรัมย์จะประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และศุลกากรตั้งจุดบริการตรวจสอบที่จังหวัดไม่ต้องผ่านจุดตรวจที่สนามบินอีก ด้านการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและประชาชนมาร่วมงาน รวมถึงทีมงานและนักแข่งจากประเทศต่าง ๆ ประสานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้เพิ่มตู้รถไฟชั้น 1 รองรับนักท่องเที่ยว และให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดรถเสริมเที่ยวขากลับบุรีรัมย์-กรุงเทพฯ ในวันที่ 6 ต.ค. อีก 20 เที่ยว จากเดิม บขส.จัดรถวิ่งกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ วันละไม่ต่ำกว่า 60 เที่ยว และนครราชสีมา-บุรีรัมย์ ไม่ต่ำกว่า 120 เที่ยวต่อวัน

ส่วนเที่ยวบินได้ประสาน 4 สายการบินโลว์คอสต์ ได้แก่ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยสมายด์ และบางกอกแอร์เวย์ส เตรียมสำรองเที่ยวบิน ขณะนี้กำลังประเมินจะมีผู้โดยสารจองตั๋วเที่ยวบินมายัง จ.บุรีรัมย์เท่าไหร่ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อประเมินการเสริมเที่ยวบินต่อไป

“สนามบินบุรีรัมย์มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 450 คน/ชม. อาจจะมีปัญหาช่วงขากลับวันที่ 6 ต.ค.บ้าง จะจัดเตรียมที่พักรอเป็นการเฉพาะไว้ ส่วนการตรวจวีซ่าและพาสปอร์ต รวมไปถึง ตม.และศุลกากรจะตรวจเช็กที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนมาที่สนามบินบุรีรัมย์ และเตรียมทีมงานบางส่วนไว้ที่สนามบินบุรีรัมย์เพื่ออำนวยความสะดวกด้วย”

นอกจากนี้ “กรมทางหลวง” ยังดำเนินการก่อสร้างถนนสาย 2445 และแยกกระสังให้เสร็จก่อนการแข่งขัน พร้อมบูรณะถนนสาย 218 บุรีรัมย์-นางรอง ที่ปัจจุบันเป็นเส้นทางรอง เป็นเส้นทางเลี่ยงรองรับการเดินทางที่จะมุ่งหน้ามายังบุรีรัมย์ไม่ขาดสาย ทั้งบูรณะผิวทางเดิม ปรับปรุงบริเวณคอขวดไหล่ทาง ติดตั้งป้ายบอกทางเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัดภายในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์

“กรมการขนส่ง” ทุ่มงบประมาณ 9 ล้านบาท ปรับปรุงสถานีขนส่งบุรีรัมย์ และเตรียมรถ shuttle bus 4 เส้นทาง รองรับการเดินทางของประชาชนภายในจังหวัด ได้แก่ 1.สนามบินบุรีรัมย์-สนามช้าง อารีน่า 2.สถานีรถไฟบุรีรัมย์-สนามช้าง อารีน่า 3.สถานีขนส่งบุรีรัมย์-สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และ 4.อบจ.บุรีรัมย์-สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และมีรถลูป 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.วงเวียน รัชกาลที่ 1-สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต 2.เรือนจำ-แยกภัทร และ 3.แยกภัทร-แยกกระสัง

“กรมท่าอากาศยาน” เตรียมความพร้อมรองรับ extra flight ที่เพิ่มขึ้น ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับระเบิด จัดพื้นที่พักคอยผู้โดยสาร ร่วมมือกับสายการบิน

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซักซ้อมการเคลื่อนย้ายอากาศยาน ดับเพลิง ที่จอดรถ และการอำนวยความสะดวกของประชาชน จัดพื้นที่รองรับผู้แข่งขัน และผู้สนับสนุนการจัดงาน รวมทั้งตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

ด้าน “การรถไฟฯ” จะพ่วงขบวนรถเพิ่มให้เพียงพอกับผู้เข้าชมการแข่งขัน จัดพื้นที่รองรับที่จอดรถ เก้าอี้ไม้หมอน ห้องน้ำ รวมทั้งจองบัตรโดยสารผ่าน application และการจ่ายค่าโดยสารด้วยระบบ QR code จัดเต็มทุกโหมดการเดินทาง “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ไม่เสียยี่ห้อภูมิใจไทย-บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด