ลุ้นเคลียร์ข้อแม้ “ซี.พี.” หลังตอบพร้อมเซ็นไฮสปีดใน 3 สัปดาห์หากตกลงกันได้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในฐานะเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาแล้ว แต่กลุ่มซี.พี. ได้แนบเอกสารเพิ่มเติมมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งขอไม่เปิดเผยว่ามีจำนวนกี่หน้าและเกี่ยวกับประเด็นอะไรบ้าง

คณะกรรมการคัดเลือกจึงยังบอกไม่ได้ว่า กลุ่มซี.พี.ตอบรับกลับมาอย่างไร ต้องขออ่านและพิจารณาเอกสารที่กลุ่มซี.พี.ส่งมาทั้งหมดก่อน โดยเมื่ออ่านและพิจารณาเสร็จแล้ว จะทำการนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อหารือและกำหนดท่าทีต่อไปภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาวันเวลาที่เหมาะสมอยู่

“หากสัปดาห์มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว เรื่องการส่งมแบพื้นที่ จะดำเนินการให้ภายใน2ปี หลังเซ็นสัญญา ทางซี.พี.ได้ส่งกำหนดวันเซ็นสัญญา ว่า พร้อมเซ็นภายใน 3 สัปดาห์นับจากที่ตกลงกันได้ ส่วนการครบกำหนดยืนราคาในเดือนพ.ย.นี้ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้ถ้าเอกชนยื่นขอมา”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินในเบื้องต้นยังไม่เห็นว่า กลุ่มซี.พี.ยังไม่กำหนดวันเซ็นสัญญา แต่การเจรจาต้องจบไปตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ในเมื่อยังไม่สิ้นสุดก็จะเชิญนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซีพร้อมกับคระกรรมการคัดเลือกทั้งคณะ มาหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมและตนในวันที่23 ก.ย.เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อและจะลงนามได้เมื่อไหร่ ซึ่งต้องยึดตามทีโออาร์ของโครงการเป็นหลัก เพราะมีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายจะยังมีการเจรจาต่อไปอีก ทำให้โครงการยืดเยื้อออกไปไม่จบ

ส่วนที่คณะกรรมการคัดเลือกมีแนวโน้มจะเซ็นสัญญากับกลุ่มซี.พี. ก่อนแล้วค่อยส่งมอบพื้นที่ทีหลังนั้น ต้องดูทีโออาร์ก่อนว่า ทำได้หรือเปล่าและแบ่งหน้าที่แต่ละหน่วยงานอย่างไร รวมถึงแต่ละประเด็นที่ยังเจรจาไม่ได้ข้อยุติด้วย ต้องมาคุยกันว่าในทีโออาร์กำหนดอย่างไร ก็ต้องมาคุยกันวันจันทร์นี้ เพราะการยืนยันกรอบวงเงินที่เสนอให้รัฐอุดหนุนจะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.นี้