The Stanford Thailand Research Consortium 3 พลังไทยแลนด์ 4.0 “AIS-AP-KBank”

ครั้งแรกของโลกที่รวมศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 20 คนจาก 9 สาขาวิชาเพื่อดำเนินการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเจาะลึกเต็มรูปแบบ

ผ่านพันธมิตร 3 ขั้วสุดแกร่ง ประกอบด้วย “AIS-AP-KBank” โชว์พันธกิจยกระดับศักยภาพคนไทยและขีดความสามารถในการแข่งขันบริษัทไทย ทุ่ม 100 ล้านผนึกพลังมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เปิด The Stanford Thailand Research Consortium การทำวิจัยระดับโลก ภายใต้การดูแลของ SEAC

ครอบคลุม 4 มิติองค์ความรู้เพื่ออนาคต ได้แก่ 1.ยกระดับความสามารถคนไทยให้เท่าทันโลก 2.นำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

3.เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน 4.ส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยผ่านหลากหลายโครงการวิจัยและพัฒนาในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจากเอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน

จากบทสรุปเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ประจำปี 2562 ประเมินตลาดแรงงาน 4 ปีหน้ามี 75 ล้านตำแหน่งงานหายไป และมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 113 ล้านตำแหน่ง นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ทรัพยากรมนุษย์ปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

โดยเฉพาะโซนพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเป็นจำนวนมาก เพราะ “คน” ในตลาดแรงงานส่วนใหญ่ยังคงทำงานในกลุ่มเกษตรกรรม

ถ้าต้องการก้าวให้ทันตามกระแสเศรษฐกิจโลก กลุ่มประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวจากธุรกิจเกษตรกรรมไปสู่ธุรกิจบริการหรือนำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ (productivity) ให้เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งอาจทำให้ “คน” มากกว่า 28 ล้านคนใน 10 ประเทศสูญเสียตำแหน่งงานเดิมภายใน 10 ปี

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลายองค์กรและบริษัทชั้นนำต่างร่วมมือศึกษาและวิจัยเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรคนและองค์กร รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อแข่งขันบนเวทีโลก

“พอล มาร์ค” ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จากการเฝ้าสังเกตสถานการณ์โลกมาอย่างยาวนาน ทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนใหญ่มีการทำวิจัยอย่างเจาะลึกเป็นจำนวนหลายหมื่นวิจัยต่อปี

หรือการคิดค้นและเร่งพัฒนาองค์กรสู้ความท้าทายใหม่ (challenges) ที่กำลังเข้ามาจนเกิดมาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ประสิทธิภาพสูง

สำหรับประเทศไทยเราได้เข้ามาเริ่มดำเนินการศึกษาระบบต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา เป็นต้น โดยได้รับความดูแลและสนับสนุนจาก SEAC เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย

ทั้งนี้ The Stanford Thailand Research Consortium การรวมกลุ่มทำวิจัยระดับโลกที่เจาะลึกเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือครั้งนี้ของ AIS-บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, AP-บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และ KBank-ธนาคารกสิกรไทย ทุ่มงบฯ 100 ล้านบาท ร่วมสนับสนุนงานวิจัยโดยมี SEAC เป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการดำเนินการ

การเลือกหัวข้อวิจัยในเบื้องต้น ทาง AIS มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ AP มองการพัฒนาขีดความสามารถคนและการศึกษา และ KBank เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหัวข้ออื่น ๆ อีกมากมาย

“อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า คุณภาพของคนคือประเด็นสำคัญที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น การยกระดับความสามารถคนไทยให้เท่าทันโลกจะเป็นหัวข้อหนึ่งในงานวิจัยที่จะหยิบขึ้นมาทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่นว่าการจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ในครั้งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำประเทศก้าวเดินไปสู่มาตรฐานใหม่ ให้เท่าทันกับบริบทของโลกธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป”

“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล AIS กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายกระแสโลกยุคดิจิทัล คือการเตรียมความพร้อมให้คนไทยมีความเข้าใจ ตื่นตัว และนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปคิดค้นต่อยอดทำสิ่งใหม่ ๆ โดยมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในวงกว้าง”

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ KBank กล่าวว่า ด้วย DNA ของ Stanford ที่มีความแข็งแกร่งเรื่องการพัฒนาผู้นำให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง DNA ให้กับทีมงานและผู้นำในทุกภาคส่วน เพื่อพร้อมผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อไป และผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในเรื่องของ do good และ do well

“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า ตลอดเวลา 5 ปี SEAC เล็งเห็นความสำคัญการทำวิจัยในระดับประเทศ สถิติทั่วโลกพบว่าประเทศที่ลงทุนและให้ความสำคัญเรื่องการทำวิจัยมากเท่าไหร่ จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ