นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูม – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท มาสั่งให้เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนผู้ผ่านการคัดเลือกที่เสนอให้รัฐอุดหนุนโครงการน้อยที่สุด 117,227 ล้านบาท ให้จบ อะไรยอมได้ก็ต้องยอม เพื่อให้เกิดการเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.นี้ให้ได้
ส่วนกรณีของเอกสารแนบท้ายสัญญา คณะกรรมการคัดเลือกกล่าวในที่ประชุมว่าได้ยอมรับเงื่อนไข 11 ข้อครึ่ง จาก 12 ข้อ อย่างไรก็ตาม ได้แนะนำไปว่า ถ้ามีข้อใดติดขัดยอมรับไม่หมด ทั้ง 2 ฝ่าย ก็ต้องทำตาม TOR เป็นหลัก ไม่ใช่เอาสัญญาแนบท้ายมาดึงเรื่องกัน หากสามารถเห็นตรงกันในเอกสารแนบท้ายสัญญาได้หมด การลงนามในสัญญาก็สามารถทำได้ทันที โดยจะไม่มีการประมูลใหม่เด็ดขาด ผู้ชนะการประมูลจะต้องได้งาน ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะไม่ได้งาน ทุกอย่างต้องเป็นไปตาม TOR
“ทาง CPH มีการยื่นขอความช่วยเหลือ แต่ถ้ามันมากเกินที่ TOR กำหนด ก็ไม่สามารถให้ความช่วเหลือได้ เช่น การรื้อย้ายโฮปเวลล์ CPH แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่เห็นโครงสร้างเดิมที่ต้องทุบทั้งหมด แต่คณกรรมการคัดเลือกและอีอีซี บอกว่า จะมาอ้างว่าไม่เห็นไม่ได้ เพราะใน TOR ระบุให้เป็นหน้าที่ของเอกชนต้องรับภาระนี้ไป แต่ถ้าพื้นที่ไหนที่มันไม่ชัดเจนจริงๆก็มาคุยกันได้ ดังนั้น อย่าให้ส่วนงานที่ติดขัดเรื่องรื้อโฮปเวลล์เพียง 200 ล้านบาทมาทำให้เลิกการเจรจา แล้วให้รัฐไปซื้อขอแพงดึงอีกกลุ่มที่เสนอแพงกว่าตั้ง 50,000 ล้านบาทมาทำแทน”
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนเงิน 2,500 ล้านบาทที่กลุ่ม CPH ขอรัฐนั้นก็ไม่ใช่ จริงๆแล้วกลุ่ม CPH ได้จัดงบของตัวเองไว้ 2,850 ล้านบาท เพื่อใช้ในงานรื้อถอนพื้นที่อุปสรรค แต่มีปัญหาเรื่องการตีความกรณีรื้อถอนโครงสร้างเดิมของโฮปเวลล์ ฝ่าย CPH เห็นว่าไม่ควรจะมาอยู่ในงบประมาณที่จัดไว้ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เห็นว่าควรจัดให้การรื้อโฮปเวลล์อยู่ในพื้นที่อุปสรรคที่กลุ่ม CPH ต้องทำด้วย ซึ่งร.ฟ.ท.เสียแค่ 200 ล้านบาทจะเอาไปแลกกับการดึงอีกกลุ่มที่เสนอเกินกรอบ 50,000 ล้านบาท มันคุ้มกันหรือไม่?