“บีทีเอส” ต่อยอดแลนด์แบงก์หมื่นล้าน เล็งพันธมิตร “อนันดา-โนเบิล” ขึ้นคอนโดแนวรถไฟฟ้า

บีทีเอส กรุ๊ปทุ่ม 3 พันล้านซื้อหุ้นอสังหาฯ-อาร์เอส เสริมศักยภาพ 4 ธุรกิจ รถไฟฟ้ายังโตต่อเนื่อง ผู้โดยสารใกล้แตะ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน “คีรี กาญจนพาสน์” เผยมีแลนด์แบงก์ในมือทำเลกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด มูลค่า 1 หมื่นล้าน แนวรถไฟฟ้าสารพัดสีมากสุด เล็งหาพาร์ตเนอร์ใหม่ร่วมทุนคอนโดฯ หลังครบดีลแสนสิริ จับตาโนเบิลฯ-อนันดาฯ ปัดฝุ่นที่ดินกว่า 200 ไร่ ติดถนนบางนา-ตราด ผุดมิกซ์ยูสหมื่นล้าน สร้างเมืองธนาซิตี้ รับรถไฟฟ้าเชื่อมสุวรรณภูมิ

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 ภาพรวมบีทีเอสกรุ๊ป ทุกอย่างดีขึ้นทั้งหมด มีรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย หลังได้ลงทุนไปประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ 9.9% เป็นอาคารสำนักงานโครงการโนเบิลเพลินจิตให้กับ บมจ.ยู ซิตี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือบีทีเอส

กวิน กาญจนพาสน์

และซื้อหุ้น บมจ.อาร์เอส 7% กว่า 1,000 ล้านบาท เสริมศักยภาพให้ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงินและธุรกิจโลจิสติกส์ของ VGI ใหญ่มากขึ้น ซึ่งการซื้อหุ้นอาร์เอสเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาว โดยบีทีเอสมีแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจกับอาร์เอสได้จากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเกือบ 1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน และในปี 2564 จะมีระยะทางเพิ่มจาก 48.9 กม.เป็น 133.4 กม.

หาพันธมิตรลุยอสังหาฯ

“ปี 2563 จะเห็น synergy ทางธุรกิจที่เราซื้อปีนี้ทั้งหมดมากขึ้น โดยรายได้หลัก 80% ยังเป็นธุรกิจรถไฟฟ้า เตรียมจะเข้าประมูลอีกหลายสาย เช่น สีส้ม ส่วนสายสีชมพูและสีเหลือง ตอนนี้เดินหน้าก่อสร้างรอเปิดบริการในปี 2564 และยังขยายฐานธุรกิจร่วมประมูลระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ที่ชนะรอเซ็นสัญญาและรอผลประมูลเมืองการบินอู่ตะเภาที่ร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส”

นายกวินยังกล่าวถึงความคืบหน้าโปรเจ็กต์ร่วมลงทุนกับ บมจ.แสนสิริว่า ตอนนี้ครบสัญญา 5 ปีแล้ว ที่บีทีเอสได้ทำสัญญาข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU) กับ บมจ.แสนสิริ ในสัดส่วน 50 : 50 จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายในแนวรถไฟฟ้า จำนวน 25 โครงการ มูลค่า 100,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกันเปิดตัวไปแล้ว 14 โครงการ มูลค่า 55,000 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์เดอะไลน์, คุณ บาย ยู, เดอะเบส และเดอะ โมเมนท์

“เรากับแสนสิริ สัญญาหมด 5 ปีแล้ว อะไรที่ทำอยู่ก็ทำต่อ อีกกว่า 10 โครงการที่เหลือมีที่ดินอยู่แล้ว สัญญาก็ทำต่อไป แต่ไม่มีผูกมัดว่าจะต้องร่วมกับแสนสิริ จะเปิดช่องให้รายอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น โนเบิลฯที่เราเข้าไปซื้อหุ้น หรืออนันดาฯที่กำลังคุยกันก็มีโอกาสที่จะร่วมกัน ตอนนี้เราคุยกับทุกคน เพราะธุรกิจเราซินเนอร์จี้ครบ ทั้งรถไฟฟ้า วีจีไอ เคอรี่ฯ อาร์เอส ใครอยากมาร่วมก็เข้ามาได้ เราเปิดช่องแล้วตอนนี้”

ตุนแลนด์แบงก์หมื่นล้าน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ปัจจุบันบีทีเอสมีที่ดินรอพัฒนา (แลนด์แบงก์) ในมือทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดหลายแปลง คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในแนวรถไฟฟ้า โดยแปลงใหญ่โครงการธนาซิตี้ติดถนนบางนา-ตราด เนื้อที่ 1,700 ไร่ มีแผนจะพัฒนาเป็นเมือง ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมาพัฒนาที่อยู่อาศัย สนามกอล์ฟกว่า 400 ไร่ โรงแรม ทำศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายบางนา-สุวรรณภูมิของกรุงเทพมหานครพื้นที่ 15 ไร่ที่บีทีเอสให้ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้าง ซึ่งบีทีเอสสนใจจะลงทุนก่อสร้างโครงการนี้ด้วย

คีรี กาญจนพาสน์

ล่าสุดการพัฒนาโครงการธนาซิตี้เพิ่งจะสมบูรณ์แบบนำที่ดิน 168 ไร่พัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ มูลค่า 5,000 ล้านบาท ร่วมกับนักลงทุนฮ่องกง 50 : 50 ยังเหลือที่ดินอีก 200 ไร่ด้านหน้าติดถนนบางนา-ตราด มีแผนจะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและรูปแบบการลงทุน มีทั้งจอยต์เวนเจอร์หรือบีทีเอสลงทุนคนเดียวก็ได้ จะได้ข้อสรุปภายในปี 2563 คาดว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มูลค่าเป็น 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ดินสามารถพัฒนาได้ทุกอย่าง เช่น ที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงพยาบาล

“เมืองธนาซิตี้ 30 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มเป้าหมายคือทำให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์ทุกรูปแบบ ทั้งการกีฬา การอยู่อาศัยอย่างมีความสุข และแน่นอนพื้นที่ใหญ่ 1,700 ไร่ ควรจะมีโรงเรียน วันนี้เห็นแล้วเป็นโรงเรียนนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด ความฝันผม 30 ปีที่แล้วกว่าจะมาถึงวันนี้ใช้เวลายาวนาน เพราะการสร้างเมืองเมืองหนึ่ง ลงทุนง่าย แต่จะทำให้แอ็กทีฟต้องใช้เวลา”

นางปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยู ซิตี้ ในเครือบีทีเอส กล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซตั้งอยู่บนพื้นที่ 168 ไร่ ติดกับโครงการธนาซิตี้ย่านบางนา รองรับนักเรียนได้ถึง 1,800 คน ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงเกรด 12 จะเปิดสอนเดือน ส.ค. 2563 เป็นต้นไปในเฟสแรก 200 คน ระดับอนุบาลถึงเกรด 8 คาดว่าจะใช้เวลาคืนทุน 10 ปี ซึ่งยู ซิตี้จะรับรู้รายได้จากโรงเรียนนานาชาติแบบไต่ระดับเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

ยู ซิตี้ได้เวลาเทิร์นอะราวนด์

สำหรับในปี 2562 จะเป็นปีที่ยู ซิตี้ เทิร์นอะราวนด์ มามีกำไรจากปีก่อนขาดทุน 629 ล้านบาทโดยรายได้หลัก 80% มาจากธุรกิจโรงแรมที่บริหารอยู่กว่า 50 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศเป็นหลัก อีก 20% เป็นรายได้จากสำนักงานให้เช่า และโครงการคอนโดมิเนียมที่ร่วมลงทุนกับ บมจ.แสนสิริที่ทยอยรับรู้รายได้ ขณะนี้เปิดไปแล้ว 14 โครงการ ตามแผนใน 5 ปี ร่วมกัน 25 โครงการ มูลค่า 100,000 ล้านบาท ตอนนี้จะครบดีลแล้ว แต่ยังทยอยเดินหน้าต่อ และต้องดูสภาวะตลาดและทำเลด้วย

“เรามี 3 โครงการกำลังพัฒนาในมือ มีโครงการยูนิคอร์น มูลค่า 9,000 กว่าล้านบาท เป็นโครงการมิกซ์ยูสสูง 50 ชั้นติดบีทีเอสพญาไท มีสำนักงาน โรงแรม จะเสร็จปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 โรงเรียนเวอร์โซ และโครงการพัฒนาโรงแรมลักเซอรี่บนที่ดินร้อยชักสาม มูลค่า 3,000 ล้านบาท” นางปิยพรกล่าวและว่า ปัจจุบันยู ซิตี้ยังมีแลนด์แบงก์หรือที่ดินรอพัฒนาอีกหลายแห่ง เช่น ทำเลราษฎร์บูรณะ 27 ไร่ คูคต 57 ไร่ สุขสวัสดิ์ ยังไม่มีแผนลงทุนพัฒนาในตอนนี้

จ่อผุดบิ๊กโปรเจ็กต์ในเมืองทอง

นายวันจักร์ บุรณศิริ กรรมการและประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บมจ.แสนสิริ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังร่วมกับบีทีเอสพัฒนาคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าอยู่ตามที่ตั้งใจไว้ 25 โครงการ ส่วนที่เหลืออาจจะมีปรับเปลี่ยนไปบ้างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบีทีเอสและลักษณะของโครงการ

“ที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาเรากับบีทีเอสซื้อร่วมกัน ส่วนจะร่วมกับใครพัฒนาก็ต้องมาดูกันต่อไป ตอนนี้ดีมานด์ตลาดคอนโดมิเนียมไม่ค่อยดี เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจ”

นายวันจักร์กล่าวอีกว่า แลนด์แบงก์ในมือที่ซื้อร่วมกัน รวมถึงที่ดินตลาดนัดมะลิในเมืองทองธานี และที่ดินข้างเคียงติดสนามฟุตบอล ประมาณ 20-30 ไร่ ที่ซื้อเก็บไว้เป็นแลนด์แบงก์รอพัฒนาโครงการรับรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ที่บีทีเอสผู้รับสัมปทานโครงการจะร่วมลงทุนกับ บมจ.บางกอกแลนด์ สร้างส่วนต่อขยายเข้าไปยังเมืองทองธานี มีกำหนดเปิดบริการในปี 2564 คาดว่าในอีก 1-2 ปีนี้ จะมีข้อสรุปเรื่องรูปแบบการพัฒนา ในเบื้องต้นจะเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูง