สมาคมคอนโดจี้ธปท.เลิกLTV ทุบโอนครึ่งปีหลัง-ยอดขายติดลบ50%

ผ่ากลยุทธ์ตลาดคอนโดมิเนียมปี 2019 นายกสมาคม ชี้ยอดโอนครึ่งปีแรกของปีนี้รอด แต่ยอดโอนครึ่งปีหลังกระอักแน่ เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV เต็ม ๆ ยื่น 2 ข้อเสนอให้แบงก์ชาติยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อและปรับมุมมองใหม่ แยกหนี้ผ่อนบ้านออกจากโครงสร้างหนี้ครัวเรือน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต ซีอีโอออริจิ้นเผยกลุ่มเก็งกำไร 20% ถูกสกัดแล้ว แต่คนซื้อขายบ้านเรียลดีมานด์กำลังจะตาย ขอผู้ประกอบการลดแข่งขัน ชะลอเปิดโครงการใหม่ รอจังหวะปีหน้าซัพพลายจะคลายตัว

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์ตลาดคอนโดมิเนียม ปี 2019”  จัดโดย สมาคมอาคารชุดไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ว่า ยอดโอนคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการบังคับเพิ่มเงินดาวน์ในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือ LTV (loan to value)

“เพราะยอดโอนครึ่งปีแรกมาจากการขายก่อนเดือนตุลาคมของปี 2561 ซึ่งประชาชนยังสามารถกู้ได้ 100% ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 จะเห็นสถิติเป็นตัวฟ้องถึงผลกระทบจากมาตรการ LTV ได้ชัดเจน ซึ่งคาดว่า
จะมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงแน่นอน” นายประเสริฐกล่าวและว่า

ดังนั้น ในนามสมาคมอาคารชุดไทย จึงมีข้อเสนอ 2 ข้อหลัก ขอให้ภาครัฐพิจารณา ประกอบด้วย 1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลื่อนการบังคับใช้ LTV ออกไปก่อน และเลื่อนโดยไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์จะเหมาะสม แล้วค่อยนำกลับมาบังคับใช้ใหม่

2.ขอให้ ธปท.ปรับมุมมองว่าด้วยการซื้อที่อยู่อาศัย ให้ถือเป็นการออมประเภทหนึ่ง โดยไม่ควรไปอยู่ในโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งแตกต่างจากหนี้บัตรเครดิต หนี้ซื้อรถยนต์ ซึ่งมีภาระในการใช้สินค้า

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยโดยรวมนั้น คิดว่าในไตรมาส 4/62 หรือไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กลุ่มผู้ประกอบการไม่ควรแข่งขันกันเปิดคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ ๆ และถ้าเป็นไปได้ควรต้องชะลอ หรือเลื่อนไปเปิดโครงการใหม่ในปี 2563 แทน เพื่อปรับสมดุลของดีมานด์-ซัพพลายไม่ให้เกิดความร้อนแรงมากเกินไป

“ส่วนตัวผมมองว่า ครึ่งปีหลังของปีนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ยังจำเป็นต้องมีอยู่ เพราะมาตรการ LTV เกิดจากรัฐบาลที่ต้องการควบคุมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในระยะยาว จากปัจจุบันพบว่า สัดส่วน 20% ซื้อเก็งกำไรล้วนเจอผลกระทบมาตรการ LTV ทั้งสิ้น ทำให้ส่วนนี้ถูกตัดออกจากระบบไปแล้ว แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ 80% ที่มีความตั้งใจซื้อบ้าน หรือเป็นเรียลดีมานด์ เพราะมีความจำเป็นในการมีที่อยู่อาศัยของตัวเองกลับไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีมู้ดการซื้อ หรือคิดชะลอซื้อออกไป ฉะนั้นมาตรการกระตุ้นจะเป็นตัวช่วย ทำให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคดีขึ้น”

นายพีระพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบมาตรการ LTV ถือว่าไม่แฟร์กับผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กที่มีการซื้อที่ดินในยุคการขอสินเชื่อยังใช้ LTV เก่า (กู้โดยมีเงินดาวน์ต่ำ) ทำให้โครงการที่เปิดขายในช่วงคาบเกี่ยวมาตรการ LTV ใหม่จะบังคับใช้ เกิดภาระสต๊อกตกค้างในมือ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทำให้ยอด take up rate หรือยอดขายติดลบถึง 50%

นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี จำกัด กล่าวว่า ในด้านซัพพลาย มองว่าปี 2563 จะเป็นปีแห่งการเคลียร์ยูนิต unsold เป็นหลัก โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องมีจุดขายจริง ๆ และลูกค้านั้น ๆ ต้องการจริง ๆ ประเมินว่าซัพพลายใหม่ในปี 2563 น่าจะลดลง -20% ขึ้นไป

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!