กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปลุกคอนโด “เตาปูน-ท่าพระ”

เปิดสายสีน้ำเงินต่อขยาย “หัวลำโพง-หลักสอง” ผู้โดยสารเฉียด 1 แสนเที่ยว “บิ๊กตู่” กดปุ่ม 30 ก.ย.เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท ธ.ค.นี้ทดลองเดินรถ “เตาปูน-ท่าพระ” คาดคอนโดฯคึก นั่งฟรีถึง 30 มี.ค. 63 เสี่ยเจริญสร้างสกายวอล์กเชื่อมห้างเกตเวย์บางซื่อ รฟม.ตั้งเป้าคนใช้ทั้งโครงข่าย 8 แสนเที่ยว สิ้นปีค่ารถไฟฟ้าถูกแน่ แอร์พอร์ตลิงก์-สายสีม่วงพ่วงสีน้ำเงินถกบีทีเอสยืดโปรฯ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 30 ก.ย. 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคอย่างเป็นทางการ หลัง รฟม.และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถได้เปิดทดลองบริการฟรีตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. เริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตรา 16-42 บาทเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังนายกรัฐมนตรีกดปุ่มเปิดพิธีในเวลา 10.20 น. จะนั่งรถไฟฟ้าจากสถานีท่าพระ-สถานีวัดมังกร เพื่อพบประชาชนรอบสถานีวัดมังกรและย่านเยาวราช

“ที่ผ่านมา รฟม.และ BEM ดำเนินการตามสัญญาสัมปทานคือทยอยเปิดบริการส่วนต่อขยายใหม่ ระยะทาง 27 กม. ตามความพร้อมของการทดสอบการเดินรถ หลังเปิด 1 สถานีเชื่อมกับสถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูนเมื่อ 11 ส.ค. 2560 และเมื่อ ก.ค. 2562 ทยอยเปิดช่วงหัวลำโพง-หลักสองจนครบ 11 สถานี เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ได้แก่ สถานีวัดมังกร สามยอด สนามไชย อิสรภาพ ท่าพระ บางไผ่ บางหว้า เพชรเกษม 48 ภาษีเจริญ บางแค และหลักสอง มีผู้โดยสารใช้บริการเกือบ 1 แสนเที่ยวคน/วัน”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดทดลองเดินรถช่วงเตาปูน-ท่าพระที่จะไปบรรจบกับสีน้ำเงินต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค เปิดใช้ฟรีถึงวันที่ 30 มี.ค. 2563 จะเก็บค่าโดยสารตามสัญญา มีสถานีบางโพ บางอ้อ บางพลัด สิรินธร บางยี่ขัน บางขุนนนท์ ไฟฉาย และจรัญฯ 13

คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการช่วงนี้ 1 แสนเที่ยวคน/วัน คึกคักไม่แพ้ช่วงหัวลำโพง-บางแค

ที่สำคัญทำเลเตาปูน-บางซื่อ ที่สายสีน้ำเงินพาดผ่านจะเป็นแหล่งพัฒนาย่านชุมชนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะถนนจรัญสนิทวงศ์ ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่จำนวนมาก น่าจะได้อานิสงส์เหมือนศูนย์การค้าเกตเวย์บางซื่อ ซึ่งขอสร้างทางเชื่อมกับสถานีบางโพแล้ว ระยะเวลา 15 ปี วงเงิน 30 ล้านบาท

“ตั้งแต่ เม.ย. 2563 สายสีน้ำเงินจะเปิดบริการครบลูปทั้งสายเก่าและสายใหม่ รวม 47 กม. มี 38 สถานี ซึ่งระยะทางยาวขึ้น แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดเท่าเดิม คือ เริ่มต้น 16 บาทและสูงสุด 42 บาท หลังเปิดให้บริการเต็มเส้นทางแล้ว จะทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น คาดว่าในปี 2564 ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินจะแตะ 8 แสนเที่ยวคน/วัน”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ รฟม.จะลดภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสายสีน้ำเงินให้กับผู้ใช้บริการ โดยจะจัดโปรโมชั่นออกบัตรโดยสารรายเดือนแบบจำกัดเที่ยว และลดราคาในช่วง off peak โดยสายสีม่วงจะลดราคาจากปัจจุบัน 14-42 บาท เหลือ 14-17 บาท และ 20 บาท กรณีที่ใช้บริการตั้งแต่ 2 สถานีเป็นต้นไป

ส่วนสายสีน้ำเงินเนื่องจากเป็นเส้นทางสัมปทานของ BEM จะให้ลดราคาช่วง off peak คงยาก จะทำโปรโมชั่นบัตรรายเดือนแบบจำกัดจำนวนเที่ยวร่วมกับสายสีม่วง เช่น 50 เที่ยว โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 48-50 บาท จากปัจจุบันหากผู้โดยสารใช้ทั้ง 2 ระบบ จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 70 บาท ซึ่งรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณไปอุดหนุนเอกชน ขณะนี้รอบอร์ดของ รฟม.และ BEM อนุมัติ

แนวทางลดค่าโดยสาร 4 สาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางรางกำลังสรุปแนวทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 4 สายทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีน้ำเงิน และแอร์พอร์ตลิงก์ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ศึกษาแนวทาง จะออกมาตรการเป็นแพ็กเกจ เช่น จัดโปรโมชั่นบัตรโดยสารแบบรายเดือน (จำกัดจำนวนเที่ยว) ลดราคาช่วง off peak หรือนอกเวลาเร่งด่วน

โดยจะลดอัตราสูงสุดของแต่ละระบบ เช่น สีม่วงเหลือ 14-20 บาท แอร์พอร์ตลิงก์จาก 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาท ตามระยะทาง ส่วนบีทีเอสมีตั๋วจำกัดจำนวนเที่ยวอยู่แล้วเฉลี่ยราคา 26 บาท/เที่ยว อาจจะให้ขยายโปรโมชั่นออกไป และให้คงราคาส่วนต่อขยาย 15 บาทออกไปอีก

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางคาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารทุกระบบเพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.33 ล้านเที่ยวคน/วัน คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ เนื่องจากจะต้องมีการปรับระบบและรอบอร์ดของแต่ละบริษัทอนุมัติ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าคาดว่าจะประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ กำลังให้กรมการขนส่งทางรางปรับวิธีการใหม่ นำรายได้ในอนาคตของแต่ละระบบมาดำเนินการ ซึ่งรูปแบบการลดราคามีหลากหลาย เช่น ทำเป็นตั๋วรายเดือน และระยะเวลาคงไม่นาน อาจจะ 6 เดือน เป็นต้น