“ภูมิใจไทย” รื้อเค้กสายสีส้ม แยกสัญญา “ก่อสร้าง-ประมูลเดินรถ”

นึกว่าจะฉลุย แต่สุดท้ายมาสะดุดตอ  2 รัฐมนตรีดูโอ้ พรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม

พลันที่กระทรวงการคลังมีข้อสังเกตติ่งท้ายแนบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กรณีแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก “ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์”

ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอรูปแบบ PPP ทั้งโครงการให้เอกชนสร้างช่วงตะวันตกและรับสัมปทาน 30 ปี เดินรถสายสีส้มตลอดสายมูลค่า 122,041 ล้านบาท โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,000 ล้านบาท

โดยคลังมองว่างานโยธาควรให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ จะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าเอกชนกู้ และที่ผ่านมารัฐลงทุนในลักษณะนี้คือรัฐลงทุนงานโยธาและเปิดประมูลหาเอกชนเดินรถ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้ “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” เคลียร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดยังไม่เคาะ

นายอนุทินกล่าวว่า ให้นายศักดิ์สยามกลับหารือ รฟม. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สรุปแนวทางที่ชัดเจนแล้วเสนอครม.ใน 2 สัปดาห์

“ส่วนใหญ่เห็นด้วยข้อเสนอคลัง เพราะประหยัดภาระงบประมาณ แต่ รฟม.เสนอให้ PPP ทั้งก่อสร้างและเดินรถด้วย กว่า 1.2 แสนล้าน แม้กระจายความเสี่ยงลงทุน แต่ผลตอบแทนให้รัฐต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะสุดท้ายรัฐต้องจ่ายเอกชนไม่ต่างจากที่รัฐทำเอง และซอยสัญญาก่อสร้างหลายสัญญา จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น” นายอนุทินกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า รฟม.เลือก PPP สายสีส้มทั้งโครงการ เพื่อลดภาระงบประมาณรัฐและเแก้ปัญหารถไฟฟ้าในอดีตที่สร้างเสร็จแต่ยังเปิดเดินรถไม่ได้ ทำให้รัฐมีภาระค่าบำรุงรักษาโครงสร้าง เช่น สายสีน้ำเงินที่ไม่เชื่อมต่อกับสายสีม่วง ติดคัดเลือกเอกชนเดินรถล่าช้าไป 2-3 ปี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า ก่อนที่บอร์ด PPP จะอนุมัติโครงการเป็นรูปแบบ PPP net cost ได้เปรียบเทียบต้นทุนระหว่างรัฐลงทุนเองกับเอกชนลงทุนงานโยธาไปแล้วได้ข้อสรุปออกมา ควรจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน เพราะรัฐมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

ก่อนเสนอ ครม.มีความเห็นของ สบน. ระบุเป็นข้อสังเกตว่า เนื่องจากโครงการนี้ให้เอกชนลงทุนไปก่อน แล้วรัฐจะจ่ายคืนทีหลัง โครงสร้างพื้นฐานก็จะกลับมาเป็นของรัฐ แต่เวลาที่รัฐจะจ่ายเงินคืนให้เอกชน สบน. เสนอแนะว่า ควรจะใช้งบประมาณ ไม่ควรใช้เงินกู้ เพราะมีดอกเบี้ย จึงอาจจะเป็นต้นทุน 2 ต่อ เพราะเอกชนจะบวกเพิ่มเข้ามา เป็นการเสนอแนะตามหลักการก่อนเสนอเข้า ครม.อนุมัติ ก็เข้าใจได้ว่า พอเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนคนกำกับกระทรวงคมนาคม ก็คงอยากเปิดประมูลเอง และความเห็นของ สบน.ก็เลยเข้าทาง

หากคมนาคมปรับรูปแบบลงทุนใหม่ ต้องเสนอบอร์ด PPP ขอถอนโครงการกลับไปศึกษา และทำข้อเสนอให้บอร์ด PPP พิจารณาใหม่ โครงการสายสีส้ม คงต้องดีเลย์ออกไประยะหนึ่ง

ต้องติดตามที่สุดแล้วรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะเดินหน้าหรือถอยหลังนับหนึ่งใหม่ ถ้าจะรื้อจริงต้องเร่งจัดหาเอกชนมาเดินรถช่วง “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” ให้ทันเปิดหวูดในปี 2566 เพราะตอนนี้งานก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 45%