บิ๊กโปรเจ็กต์1.6ล้านล.สะดุด ติดล็อกการเมือง-รัฐวิสาหกิจไร้บอร์ด

ฝันค้างเมกะโปรเจ็กต์ปลุกเศรษฐกิจ สารพัดปัญหา ปมเวนคืนติดล็อกกฎหมาย ป่วนลงทุนรัฐวิสาหกิจ 1.6 ล้านล้าน การเมืองรื้อบอร์ด ปลดผู้บริหาร ทำโครงการใหญ่สะดุด คมนาคมแป้กทั้งรถไฟฟ้า-ด่วนพระราม 3 -เทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ เร่งอีอีซีสุดฤทธิ์ “มาบตาพุดเฟส 3-ไฮสปีด3 สนามบิน อู่ตะเภา-เมืองการบิน” เซ็นสัญญา ต.ค.นี้

แผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งถูกตั้งความหวังให้ช่วยปลุกเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นในระยะยาว อาจไม่เป็นไปตามที่คาด

44 โปรเจ็กต์คมนาคมสะดุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 44 โครงการ มูลค่ากว่า 1.94 ล้านล้านบาท เป็นอีก 1 ฟันเฟืองที่รัฐบาลจะใช้ในการขับเคลื่อนการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจยังไม่สามารถผลักดันลงทุนออกมาได้ เนื่องจากบางหน่วยงานยังไม่มีผู้บริหารสูงสุด และคณะกรรมการ (บอร์ด) มาช่วยผลักดัน ขณะที่บางโครงการติดระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ และปมร้องเรียนการประมูล เมื่อคิดเป็นมูลค่าแล้วอยู่ที่กว่า 1.6 ล้านล้านบาท

โครงการใหญ่ค้างเพียบ

โดยโครงการที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถลงทุนได้ตามแผนหรือล่าช้า ประกอบด้วย โครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) มูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ต้องรออนุมัติเวนคืนและเปิดประมูล และสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) กว่า 1.22 แสนล้านบาท ยังต้องหาข้อสรุปใหม่จะ PPP ทั้งก่อสร้างและเดินรถ หรือจะแยกประมูลคนละสัญญาตามนโยบาย รมว.คมนาคม

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีโครงการรออนุมัติ เช่น ผลประมูลทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 29,154 ล้านบาท เนื่องจากมีข้อร้องเรียนขั้นตอนประมูล ล่าสุดบอร์ดอนุมัติแล้ว 2 สัญญา เหลือ 2 สัญญารอความชัดเจนจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งต้องเร่งเซ็นสัญญาโดยเร็วเพราะใช้เงินกองทุน TFF หากล่าช้าจะมีต้นทุนดอกเบี้ย และทำให้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนล่าช้าด้วย นอกจากนี้มีสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่จะขยายอายุให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 30 ปี แลกกับการยุติข้อพาททั้งหมด ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง และทางด่วน N2

เร่งดิวตี้ฟรีดอนเมือง-รื้อบินไทย

ขณะที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) มีโครงการเทอร์มินอล 2 และรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 และประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง ซึ่งคิง เพาเวอร์จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ก.ย. 2565 โดย ทอท.เตรียมขายทีโออาร์ประมูลเดือน ต.ค.นี้ สำหรับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลังการเมืองเปลี่ยนจะทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่ เช่น การจัดหารถใหม่ 2,188 คัน วงเงิน 1.9 หมื่นล้าน ล่าสุดจะเปลี่ยนเป็นจ้างเอกชนเดินรถแทนเพื่อลดต้นทุน

ด้าน บมจ.การบินไทยที่กำลังเร่งรัด คือ แผนฟื้นฟูกิจการและจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ กว่า 1.56 แสนล้านบาท บอร์ดได้สั่งทบทวนใหม่ ทั้งในส่วนของสมมติฐานในโครงการจัดหาเครื่องบิน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และทบทวนแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องเหมาะสม

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่ากว่า 8.4 หมื่นล้าน ที่กำลังเร่งผลักดัน เพราะเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการปรับปรุงท่าเรือคลองเตยด้วย

3 เมกะโปรเจ็กต์อีอีซีเซ็น ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี 5 โครงการ วงเงินลงทุน 652,559 ล้านบาท ที่เปิดให้เอกชนร่วม PPP ยังติดฟ้องอุทธรณ์บางโครงการ จาก 5 โครงการ คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือน ต.ค.นี้ 3 โครงการ มูลค่า 569,944 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า จะมีการลงนามสัญญาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 วงเงิน 55,400 ล้านบาท กับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ฯ และพีทีที แทงค์ วันที่ 1 ต.ค. เป็นโครงการแรกในอีอีซี 2.พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาซองคุณสมบัติที่ 2 เทคนิค ของ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS และ 2.กลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม คาดว่าจะได้ตัวเอกชนเซ็นสัญญาเดือน ต.ค.นี้

3.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผ่านการคัดเลือก จะเชิญเอกชนมาหารือส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จก่อนลงนามวันที่ 15 ต.ค. เวลา 13.00-16.30 น.

สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F มูลค่า 84,361 ล้านบาท ของการท่าเรือฯ หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ให้กลับเข้าร่วมประมูลโครงการได้ กพอ.และ กทท.กำลังพิจารณาจะอุทธรณ์คำสั่งภายใน 30 วัน โดยหยุดพิจารณาซองคุณสมบัติไว้ก่อน

“ศักดิ์สยาม” เร่งตั้งบอร์ด

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนเข้าใจทุกภาคส่วนดีว่ามีความหวังจะให้โครงการลงทุนของคมนาคมช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ ซึ่นพยายามแก้ปัญหาและเร่งรัดทุกโครงการให้ประมูลก่อสร้างได้ตามเป้า แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงจะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และระเบียบขั้นตอนการประมูลที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทำให้บางโครงการล่าช้า

สำหรับปัญหาเรื่องบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้เห็นชอบรายชื่อผู้ที่จะไปนั่งประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ลาออกให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อนุมัติแล้ว มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ส่วนบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยังไม่ได้แต่งตั้ง เนื่องจากต้องการให้สางงานเก่าที่ค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย

“กทพ.ยังเจรจาสัมปทานทางด่วนค้างกับ BEM ที่ผมให้พิจารณาทางเลือกเพิ่ม ส่วน ทอท.บอร์ดก็ทำผลกำไรดี แต่อยากให้เร่งเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิให้เสร็จก่อน ด้านบอร์ดการบินไทยใครที่อายุเกินก็หมดวาระ และแต่งตั้งใหม่ ส่วนบอร์ดการรถไฟฯได้รับรายงานแล้วว่าลาออก จะรีบตั้งโดยเร็วที่สุด”

ลงทุนรัฐวิสาหกิจติดล็อก

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การเร่งรัดโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากหลังเปลี่ยนแปลงผู้บริหารฝ่ายการเมือง แต่ละกระทรวงจะมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารและกรรมการรัฐวิสาหกิจหน่วยงานในสังกัด มีทั้งปลดและการส่งสัญญาณให้ลาออก อย่างกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้มีการปลดผู้ว่าการ กทพ., บอร์ด รฟม. ส่วนบอร์ด กทท.ถูกให้ลาออกยกชุด และบอร์ด ร.ฟ.ท.ก็ลาออกยกชุดด้วย สำหรับบอร์ด บมจ.การบินไทย มีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองก็ต้องการปรับเปลี่ยน ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สังกัดกระทรวงพลังงาน ขณะนี้ยังไม่มีประธานบอร์ด

รฟม.-กฟผ.ลุ้น ปธ.บอร์ดคนใหม่

ปัจจุบันการแต่งตั้งบอรด์ต้องมีการสรรหา ต้องแต่งตั้งบุคคลตามความเชี่ยวชาญเฉพาะ (skill matrix) และการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญการทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่น ที่สำคัญ หากรัฐวิสาหกิจไหนกำหนดว่าต้องแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (ไดเร็กเตอร์พูล) ก็ต้องเลือกจากบัญชีดังกล่าว ซึ่งต้องมีการเสนอรายชื่อ 2 เท่าของตำแหน่งที่ขาด ส่งให้อนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นประธานคัดเลือก

“ตอนนี้โครงการลงทุนรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเกิดการติดขัด บางส่วนทำไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาในการประชุมบอร์ด เช่น ถ้าไม่มีประธานบอร์ด ก็ไม่ครบองค์ประกอบ”

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง กำกับดูแลภารกิจด้านทรัพย์สิน กล่าวว่า การตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ปัจจุบันต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือไดเร็กเตอร์พูล ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อยู่ โดยกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจต้องเลือกแต่งตั้งจากรายชื่อที่มีอยู่ในบัญชี ขณะนี้ในบัญชีรายชื่อ บางสาขาก็ขาดคน ซึ่งจะประกาศรับสมัครผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเข้ามาอยู่ในไดเร็กเตอร์พูลในต้นเดือน พ.ย.นี้

สภาพัฒน์แก้กฎหมายใหม่


แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้งบฯ ลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2563 ล่าช้าออกไปราว 1 เดือน เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ในช่วงรอยต่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสภาพัฒน์ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถพิจารณาอนุมัติงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจปีงบฯ 2563 และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ทันก่อนสิ้น ก.ย.