สุดล้ำ! “แอร์เอเชีย”พบ”ถาวร”ขอคมนาคมผลักดันใช้เทคโนฯสแกนใบหน้าเช็กอินร่นเวลาเหลือ45วินาที

เมื่อเวลา 10.30 น. นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ผู้บริหารบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เข้าพบ โดยมีข้อหารือร่วมกัน 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.ขอนำระบบเช็กอินด้วยการสแกนใบหน้าเข้ามาใช้ภายในประเทศ ซึ่งตอนนี้นำร่องที่ประเทศมาเลเซียแล้ว ที่ประชุมร่วมสรุปว่า จะตั้งคณะทำงานมีนายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประธาน เพื่อหาแนวทางให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้

เนื่องจากการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันข้อมูลส่วนบุคคล จะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักทะเบียน กระทรวงมหาดไทย เรื่องข้อมูลพื้นฐานที่ไม่มีผลต่อความมั่นคงและข้อมูลส่วนบุคคล, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรรม, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กบท.) เรื่องการกำกับดูแลและประสานงานกับไอเคโอ และสายการบินเอง ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หากทำไม่ทันกำหนด สามารถขอขยายเวลาได้ครั้งละ 15 วัน

2.สอบถามถึงความคืบหน้าการขยายทางวิ่ง (รันเวย์) สนามบินเบตง จ.ยะลา และสนามบินแม่สอด จ.ตาก เข้ามา จึงได้ชี้แจงว่า การขยายรันเวย์สนามบินเบตง ได้จัดทำของบประมาณปี 2563 จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อหาที่ดินประมาณ 60 ไร่ หลังจากนั้นในปี 2564 จะทำเรื่องของบประมาณขยายรันเวย์ต่อไป คาดว่าใช้งบไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

ส่วนการขยายรันเวย์สนามบินแม่สอดจาก 1,800 เมตร เป็น 2,100 เมตร วงเงิน 368 ล้านบาท เพื่อรองรับเครื่องบินที่มีความจุบรรทุกผู้โดยสารได้ 200 คนขึ้นลงได้นั้น จะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ในปี 2563 โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รอพิจารณาในสภาวันที่ 17 ต.ค.นี้

3.ขอให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปรับปรุงทางขับทางวิ่งและหลุมจอดให้มีความแข็งแรงขึ้น เพื่อรองรับเครื่องบินแอร์บัส A321 นีโอ เพราะสนามบินของ ทย.สามารถรองรับเครื่องบินที่ขนส่งผู้โดยสารได้เพียงลำละ 180 คนเท่านั้น หากเพิ่มความแข็งแรงของทางขับ รันเวย์ และหลุมจอดได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้โดยสารเดินทางมามากขึ้นและเป็นการประหยัดด้วย เพราะสามารถขนส่งคนได้มากขึ้น เที่ยวบินน้อยลงเบื้องต้น ทย.ชี้แจงว่า ในปี 2563 ได้ของบประมาณเพื่อทำเรื่องนี้แล้ว 5 สนามบิน ได้แก่ สนามบินราชบุรี สนามบินระนอง สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินนครพนม และสนามบินนราธิวาส

4.มีความกังวลถึงกรณีอากาศยานชนนก (Bird Strke) แม้จะเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เมื่อเกิดแล้วจะมีค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง ประเด็นนี้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และ ทย.ชี้แจงว่าได้ทำหน้าที่ตรงนี้เต็มที่แล้ว โดยเฉพาะสนามบินที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของนก ทอท.ได้ดำเนินการกำจัดหอยเชอร์รี่และตัดหญ้าที่ขึ้นสูงแล้ว

แต่เมื่อปัญหามีมากขึ้นก็กำลังพิจารณาจัดเครื่องมือกำจัดนกแบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท แต่เนื่องจาก ทย.มีวงเงินสำหรับลงทุนโครงการต่างๆ สูงขึ้น 5,000-6,000 ล้านบาทแล้ว จึงชะลอการจัดซื้อเครื่องมือนี้ไปก่อนและใช้การเพิ่มความถี่ในการดูแลไปก่อน

และ 5.ไทยแอร์เอเชียมีภาระต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เช่น ภาษีสรรพสามิตในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง, การเสียค่าใช้จ่ายเรื่องการวีซ่าเข้าเมือง เป็นต้น ก็ได้ทำเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว ส่วนภาษีสรรพสามิตให้รวมกลุ่มกับสายการบินอื่น ไปเจรจากับกระทรวงการคลังโดยตรงได้หรือไม่

ด้านนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า การขอใช้ระบบจดจำใบหน้า อยู่ในขั้นตอนการศึกษา แต่คาดว่าจะลดเวลาการเช็กอินลงได้ครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่เช็กอินที่เคาว์เตอร์จะใช้เวลาประมาณ 90 วินาที จะเหลือแค่ 45 วินาทีเท่านั้น โดยได้หารือกับกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ ทย.แล้ว

หากได้รับการอนุญาตศึกษาและการศึกษาแล้วเสร็จในสิ้นเดือนนี้ จะเริ่มทดลองระบบนี้ในเส้นทางภยในประเทศก่อน นำร่องที่สนามบินอุดรธานี สนามบินอุบลราชธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินร้อยเอ็ด และสนามบินน่าน ส่วนจะทดลองได้เมื่อไหร่อยู่ที่ความพร้อมของเครื่องมือและผลการศึกษา และสนามบินแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

“ระบบนี้ใช้ในสนามบินชั้นนำหลายแห่ง เช่น สนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์, สนามบินบังกาลอว์ ประเทศอินเดีย ซึ่งประสบความสำเร็จมากและเป็นเรื่องที่หน่วยงานดูแลสนามบินของแต่ละแห่งเป็นผู้ลงทุนเอง แต่เราเห็นว่าไทยยังไม่มีเลยเสนอให้ทำก่อน”