เปิดโรดแมปรัฐวิสาหกิจ กู้ 2 แสนล้าน ลุยรถไฟไทย-จีน เร่ง ปตท. ลงทุน

ตามที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) จะมีผลบังคับใช้ น่าจะราวปลายเดือน ม.ค. 2563 สะท้อนว่า ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค. 2562) “โครงการลงทุนใหม่ ๆ” จะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากต้องรอกฎหมายงบประมาณบังคับใช้ก่อน

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลคาดหวัง คือ การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ “โครงการต่อเนื่อง” เพื่ออัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ได้กำหนดวงเงินก่อหนี้ใหม่ไว้ทั้งสิ้น 894,005.65 ล้านบาท

แบ่งเป็น “รัฐบาลกู้” เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง วงเงิน 90,000 ล้านบาท ที่กู้มาใช้โดยตรงอีก 573,522 ล้านบาท และส่วนของรัฐบาลที่กู้มาแล้วให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ โดยเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ วงเงินรวม 85,357.11 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง ที่ได้กู้เอง 145,126.54 ล้านบาท

วงเงินกู้ 2.25 แสนล้าน

“ธีรัชย์ อัตนวานิช” ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการกู้เงินเพื่อลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ 2563 จะอยู่ที่ 225,000 ล้านบาท

เฉพาะส่วนลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะอยู่ที่ 85,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ ๆ

“เมกะโปรเจ็กต์ที่จะกู้เงินปีหน้า ส่วนใหญ่เป็นของ ร.ฟ.ท. กับ รฟม. ซึ่งรัฐวิสาหกิจเป็นผู้กู้ต่อจากรัฐบาล โดย ร.ฟ.ท.กู้มาลงทุนในโครงการรถไฟไทย-จีน 3 หมื่นล้านบาท เพราะกู้ไม่ทันในปีงบประมาณก่อน จึงมากู้เหลื่อมในงบประมาณปีหน้า ล่าสุด ร.ฟ.ท.แจ้งว่า ได้ผู้รับจ้างแล้วในบางสายทาง” นายธีรัชย์กล่าว

คลังจี้ ร.ฟ.ท.เร่งแผนบริหารสินทรัพย์สร้างรายได้

ทั้งนี้ ในส่วนของ รฟม.มีแผนกู้เงินรวม 5 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 20,131.49 ล้านบาท ขณะที่ ร.ฟ.ท.มีแผนกู้ 9 โครงการ วงเงิน 65,225.62 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนโครงการลงทุนต่อเนื่อง
6 โครงการ รวม 62,800.95 ล้านบาท และแผนลงทุนโครงการใหม่ ๆ ในงบประมาณปีหน้าอีก 3 โครงการ วงเงิน 2,424.67 ล้านบาท  (ดูกราฟิก)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจทั้งสองมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้ เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า ทำให้ต้องรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

ในส่วน รฟม.นั้น คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เสนอความเห็นว่า เนื่องจากเป็นการลงทุนโครงการระบบรถไฟฟ้าในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลรับภาระการลงทุนทั้งหมด แต่ควรกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ และความสามารถในการจัดสรรงบประมาณชำระหนี้ในแต่ละปี

ส่วน ร.ฟ.ท.มีข้อเสนอว่า ควรให้ ร.ฟ.ท.ขอชดเชยผลขาดทุนตามที่เกิดขึ้นจริง และเร่งรัดแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเร่งดำเนินการตามแผนบริหารทรัพย์สินที่ต้องพิจารณาอัตราค่าเช่าให้เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์กับรัฐสูงสุด

สคร.เร่งแก้อุปสรรค

“ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้ สคร.เร่งติดตามการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้ลุล่วงโดยเร็ว

เป้าหมาย เพื่อให้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งภาพรวมการเบิกจ่ายงบฯลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2562 มีจำนวน 169,883 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของแผนเบิกจ่ายสะสม

ขณะที่ “ชาญวิทย์ นาคบุรี” รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า สิ้นเดือน ส.ค. 2562 พบว่า โครงการขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ตามแผน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ของ รฟม., โครงการลงทุนโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท., การปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และงานก่อสร้างขยายระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)

ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายไม่ได้ตามแผนนั้น คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ของ ร.ฟ.ท., โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ทำให้ สคร.ต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐวิสาหกิจให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เบิกจ่ายล่าช้า เพราะมีผลต่อระบบสภาพคล่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่มีแผนเบิกจ่ายสูงอย่าง บมจ.ปตท. ให้เร่งเบิกใช้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้โดยเร็ว

จากนี้คงต้องติดตามการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่าจะทำได้ตามแผนหรือไม่ เพราะเม็ดเงินมหาศาล ล้วนจะมีผลต่อการ “พยุงเศรษฐกิจ” ในยุคที่กลัวการเผาจริง