พรุ่งนี้ “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” เคาะแผนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม-สคร.ห่วงนับหนึ่งใหม่ทำโครงการช้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เรียกกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาให้ข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีสมตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ ระยะทาง 27 กม. เงินลงทุน 122,041 ล้านบาทแล้ว โดยให้กรอบไปว่าต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 ส่วนคือ ประชาชน รัฐบาล และเอกชน

โดยกรมราง ได้นำข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) มาเปรียบเทียบ ก็พบว่าทั้งสองสายเป็นระบบโมโนเรลและใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพราะว่าระบบโมโนเรล ขบวนรถจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดรูปแบบของการสร้างราง ซึ่งไม่สามารถแยกงานโยธาออกมาได้เหมือนการทำรางหนัก (Heavy Rail)

ส่วนสนข.เสนอมิติที่เป็นข้อกังวลในประเด็นต่างๆ เช่น ค่าโดยสารที่จะจัดเก็บ, เพดานหนี้สาธารณะ เป็นต้น แต่เมื่อดูต้นทุนแล้ว หากแยกงานโยธาออกมาจะทำให้ต้นทุนของโครงการถูกขึ้น จากเดิมประมาณ 120,000 ล้านบาท จะเหลือเพียง 90,000 ล้านบาท

อีกทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้ก็จะถูกกว่าให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบด้วย แต่ข้อมูลคาดการณ์ผู้โดยสารมองว่า ยังน้อยไป เพราะข้อมูลที่นำเสนอระบุว่า เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งสองช่วงจะมีผู้โดยสารใช้งาน 440,000 คน/วัน จึงให้สนข.ไปปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะควรจะต้องมีผู้โดยสารมากกว่านี้

ส่วนอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ของโครงการอยู่ที่ 9.75% แต่ไม่ส่งลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะตอนนี้เพดานอยู่ที่ 42% จากเดิมที่ให้ 60% ยังไม่มีปัญหา

ในวันที่ 8 ต.ค.จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณา ตัดสินใจเลือกรูปแบบการลงทุนที่ดีที่สุด หากเลือก PPP เดิม ก็เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้เลย แต่หากจะแยกงานโยธาออก ก็จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) รับทราบ ยืนยันว่าหากแยกงานจริงก็ไม่ทำให้โครงการล่าช้า

ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร .) กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า หากกระทรวงคมนาคมจะเสนอแยกงานโยธาออกจากงานระบบจริง ก็จะต้องทำความเห็นเสนอให้ครม.เห็นชอบก่อน เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สรค.) จัดวาระรอเสนอ ครม.แล้ว

เมื่อครม.เห็นชอบ กระทรวงคมนาคมจะต้องนำเรื่องนี้ตีกลับไปที่ รฟม. เพื่อให้รฟม.แยกงานโยธาออกจากงานระบบ โดยงานโยธาที่จะให้รัฐทำเอง จะต้องเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

ส่วนงานระบบที่จะนำมาลงทุนแบบ PPP จะต้องตีกลับมาให้บอร์ดรฟม.อัพเดทผลการศึกษาใหม่ และต้องปรับรูปแบบโครงการให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) ด้วย เนื่องจากเดิมโครงการนี้อยู่ในพ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ซึ่งโครงการจะอนุมัติได้ช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมว่าจะใช้เวลาศึกษานานหรือไม่ เพราะในกระบวนการพิจารณาของ สคร. ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 6 เดือนแล้ว

“ที่เรื่องนี้เป็นประเด็น ก็เนื่องจากในขั้นตอนขอรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอครม. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีความเห็นว่า หากแยกงานโยธาออกมาให้รัฐทำเอง จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้มาก เพราะการทำ PPP รัฐอาจจะต้องชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เอกชน ในกรณีที่เอกชนไปกู้เงินมาทำโครงการ แต่ สบน.บอกว่าไม่คัดค้านแค่มีข้อสังเกตเท่านั้น จึงเป็นประเด็นที่ประชุมครม.เศรษฐกิจสั่งการให้ทบทวนโครงการนี้ในที่สุด”

นายประภาศ กล่าวอีกว่า จริงๆแล้ว สคร.เคยทำความเห็นชี้แจง สบน.แล้วว่า การร่วมทุนแบบ PPP จะทำให้รัฐไม่ต้องมีภาระงบประมาณมาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอกชนได้รับจะสูงและรัฐต้องชดเชยนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชดเชยในคราวเดียว สามารถแบ่งชำระได้ ไม่เป็นภาระงบประมาณแน่นอน