CPAC Solution “ชนะ ภูมี” ทุก Pain Point ของการก่อสร้างแก้ได้ด้วย BIM

สัมภาษณ์พิเศษ

ได้เวลาของเทคโนโลยีบริหารจัดการไซต์ก่อสร้างล้ำ ๆ ภายใต้ BIM-Building Information Management” ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ BIM ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง ส่วนใหญ่มักใช้กับโครงการขนาดใหญ่และผู้ประกอบการรายใหญ่

ล่าสุด เอสซีจีมีการเปิดตัวโซลูชั่นใหม่ ๆ โดยนำเสนอเทคโนโลยี BIM เคาะประตูเสิร์ฟถึงหน้าบ้าน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “พี่นะ-ชนะ ภูมี” Vice President-Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ในโอกาสเปิดตัวโซลูชั่นใหม่ “CPAC Solution Center” ตอบโจทย์เจ้าของบ้าน-ช่างรับเหมารายย่อยทั่วประเทศได้อย่างไรบ้าง

Q : โมเดลซีแพค โซลูชั่น เซ็นเตอร์

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจปีนี้มีการยกระดับกระบวนการทำงานของกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และโซลูชั่นการก่อสร้าง โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งทั้งในระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ

ไฮไลต์แผนธุรกิจมีการตั้ง “CPAC Solution Center” เราเปิดแห่งแรกที่เชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2562 ปีนี้เหลือเวลาอีก 1 ไตรมาส ตั้งเป้าเปิดครบ 9 สาขาในเชียงใหม่ ขอนแก่น พิษณุโลก ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี พัทยา นนทบุรี และนครปฐม ภายในสิ้นปีนี้

ส่วนแผนลงทุนปี 2563 ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 20 สาขาทั่วประเทศ และขยายเครือข่ายช่างและผู้รับเหมาท้องถิ่นจาก 2,000 คน เป็น 20,000 คน

จุดโฟกัส BIM ซึ่งเป็นโมเดล 3 มิติ จุดเด่นช่วยลดของเสียจากการเผื่อวัสดุ ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ เวลา และต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้าง เช่น เศษคอนกรีต หมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง ทำให้ของเสียกลายมาเป็นประโยชน์ที่เกิดกับทุกฝ่าย (from waste to wealth)

BIM ถือเป็นดิสรัปชั่นวงการก่อสร้าง เราทำแพลตฟอร์ม BIM in One การเขียน BIM แบบใหม่ เปลี่ยนวิธีการทำงานแบบเดิมของวงการก่อสร้าง ใช้ดิจิไทซ์เข้ามาเป็นตัวช่วยคีย์หลัก คือ BIM ไม่ใช่ระบบ 3D ธรรมดา แต่มีไดเมนชั่น ระยะจริง รู้งานระบบ เช่น แอร์ติดตั้งตรงไหน ตัวท่อเดินยังไง ทำครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ต้องไปรื้อหรือทำทีหลัง

Q : เจ้าของบ้านได้ประโยชน์ยังไง

ถ้าดูแวลูเชนเดิม มีผู้ออกแบบ คอนซัลแตนต์หรือผู้รับเหมา เจ้าของงานกับช่างตกลงว่าจะก่อสร้างบ้านในระยะเวลาเท่าไหร่ งบประมาณเท่าไหร่ สังเกตว่าแต่ละแวลูเชนจะไม่เห็นรายละเอียดซึ่งกันและกัน

เรื่องใหม่ เราจะนำภาพที่เจ้าของบ้านอยากได้ เชื่อมโยงกับผู้ออกแบบ เชื่อมโยงกับผู้รับเหมา ฉะนั้น ทุกฝ่ายจะเห็นเหมือนกันหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ใช่ผู้รับเหมาที่ไปรับงานเจ้าของบ้านโดยตรง

เราสามารถทำได้หลายโมเดล เช่น เจ้าของบ้านอยากให้เราเชื่อมกับผู้รับเหมาท้องถิ่น ตามแบบ BIM ที่ดิจิไทเซชัน ส่งจากส่วนกลาง ก่อนเริ่มงาน เจ้าของบ้านเห็นภาพเหมือนผู้รับเหมา เหมือนผู้ออกแบบ เราจะคลี่ภาพตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างก่อสร้าง การใช้วัสดุ จนถึงส่งมอบหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ

เทคโนโลยี BIM จะเข้ามาช่วยลดการทุบ รื้อ ระหว่างการก่อสร้างที่อาจไม่เห็นตรงกัน สิ่งหนึ่งที่เราสามารถลด 20% มีทั้งเวลาและวัสดุ เราจะเอาส่วนนี้มาเพิ่มให้กับช่างที่ทำงาน เพิ่มคุณภาพให้เจ้าของงาน และเพิ่มตลอดแวลูเชนให้งานออกมาค่อนข้างสมบูรณ์

จุดเน้นคือเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการจ่ายเท่าเดิม รายได้ของ CPAC Solution Center มาจากส่วนต่างที่เราเข้าไปลดการสูญเสีย ปกติอยู่ที่ 15-20% ของไซต์งาน หรือไซต์โครงการ

โมเดลธุรกิจของเราสามารถเข้าไปตอบโจทย์ pain point แก้ปัญหาให้ลูกค้าเจ้าของงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งช่าง ผู้รับเหมา บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหญ่และรายย่อย

Q : Vision ในการรับงาน

ต้องเรียกว่า mission เราเริ่มสักพัก ทำเคสแอนด์เลิร์น ทดลองที่เชียงใหม่ ขอนแก่น เห็นโมเดลเพนพอยต์ผู้รับเหมา ช่าง เจ้าของงานคืออะไร

สิ่งที่พบอันหนึ่งคือ 2 ฝั่งเห็นไม่เหมือนกัน ทั้งงานที่จะจบ กับเงินที่จะใช้

ฉะนั้น คงไม่ใช่มิสชั่นจะสำเร็จภายในเวลาอันใกล้ ปีหน้าเราจะสเกลเป็น 20 ศูนย์ เพราะเอาจุดสำเร็จและไม่สำเร็จเป็นโมเดล ปีนี้ 9 ศูนย์ ปีหน้า 20 ศูนย์ อาจมีคำถามว่าทำไมสเกลได้เร็ว ก็เพราะมีองค์ความรู้ของซีแพค ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 67 เรารู้เรื่องการออกแบบ การก่อสร้างสะพาน

งานที่ซีแพคจับถึงจังหวะหนึ่งทำได้เร็วเพราะเราใส่เทคโนโลยี ทั้งการก่อสร้างและดิจิทัล เมื่อใส่องค์ความรู้เข้ามาเติมเต็ม ยิ่งทำให้ขยายได้รวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เครือข่าย ฐานลูกค้าเดิมกับกลุ่มช่างรับเหมาย่อยที่เกาะติดกับเรา โจทย์คือทำยังไงให้เขามีความสามารถสูงขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญสุดในการขยายธุรกิจ

เป้าในการลดเวสต์ตั้งใจอย่างน้อยต้อง 10% ในที่นี้รวมถึงเวลาก่อสร้าง เพราะเวสต์จริง ๆ หน้างานมีตั้งแต่มโนสาเร่ เรื่องการประสานงาน ดอกเบี้ยทั้งหลายแหล่ ซึ่งโปรเจ็กต์ที่เราทำรีโนเวตโรงงานท่าหลวง ลดได้ 15% เพราะฉะนั้น จึงตั้ง benchmark ไว้อย่างต่ำที่ 10%

Q : มูลค่าตลาดที่เราเข้าไปทำ

ตลาดสร้างใหม่และซ่อมแซมมีอยู่แล้วปีละ 1.4 ล้านล้านบาท เดิมเราอยู่ในตลาดวัสดุก่อสร้าง โอกาสทางธุรกิจต้องบอกว่าโชคดีมาตรฐานการก่อสร้างบ้านเราอาจไม่สูงเท่าระดับโลก ทำให้การจ่ายเงิน 100 บาท (ค่าก่อสร้าง) แต่ได้ของมา 80-85% ที่เหลือสูญเสียไปในมาตรฐานการก่อสร้างทั้งวัสดุ เวลา มาตรการควบคุมก่อสร้างไม่ได้ตรงเวลา ไม่ได้ตามเป้า จะเห็นว่ามีสารพัดปัญหา

สิ่งที่เราเข้าไปคือเข้าไปในตลาดเดิม ลูกค้าผู้รับเหมา ซีแพคมีรายได้ปีละ 2.3-2.4 หมื่นล้านบาท มีผู้รับเหมาในระบบ 2 หมื่นรายที่รับงานอยู่แล้ว

สิ่งที่เราเข้าไปช่วยคือทำให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ฉะนั้น ไม่ว่าตลาดเติบโตมากหรือน้อย สิ่งที่เราช่วยคือทำให้ช่างสามารถทำงานได้ดีขึ้น เราก็มีการเติบโตในเซ็กเมนต์ที่ค่อนข้างใหญ่

ซึ่งเอสซีจีซีเมนต์มียอดขายปีละ 7 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ CPAC Solution Center กำลังเข้าไปในตลาดที่มีมูลค่า 1.44 ล้านล้าน นั่นคือเราไม่ได้เข้าไปแย่งรายเดิม แต่เข้าไปทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้น

เป้าหมายหลัก ๆ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องทำให้ช่างทำงานได้ดีขึ้น แต่เราอยากยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างบ้านเราให้สูงทัดเทียมตลาดโลก โดยเฉพาะสิ่งที่เริ่ม จะเริ่มในพื้นที่ตลาดภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ไปภาคอีสาน ภาคใต้ ซึ่งมี gap ฝีมือและองค์ความรู้ระหว่างช่างกับสิ่งที่เราจะปรับปรุงได้ค่อนข้างเยอะ

เอสซีจีมั่นใจมาก สิ่งนี้จะเปลี่ยน waste เป็น wealth ได้ค่อนข้างชัดเจน