
ทรัพย์สินจุฬาฯเท 6.2 พันล้าน ผุด 3 โปรเจ็กต์ มิกซ์ยูส-ชุมชนสตาร์ตอัพ ต่อจิ๊กซอว์ปั้นสมาร์ทซิตี้ ปรับ “สยามกิตติ์” ผนึกเครือพรินซิเพิล เติมโรงแรม 3 ดาว 24 ชั้น ย้ายโรงเรียนกวดวิชาไป Siamscape พร้อมศึกษาแผนลงทุนโรงพยาบาล/ศูนย์สุขภาพ 12 ไร่ ใกล้สวน 100 ปี ดึงเอกชนร่วมลงทุน เล็งเปิดยื่นทีโออาร์ต้นปีหน้า
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วง 1-3 ปี จากนี้ว่า เตรียมเม็ดเงินลงทุน 6,200 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ 3 โครงการ ได้แก่ Block 28 หรือครีเอทีฟสตาร์ตอัพวิลเลจ บนพื้นที่ 8 ไร่ ติดกับหน้าถนนพระราม 4 ระหว่าง ซ.จุฬาฯ 5 และ 9 จำนวน 5 อาคาร เพื่อสร้างเป็นชุมชนสำหรับกลุ่มสตาร์ตอัพ ให้มีพื้นที่ในการทำงานในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563
โครงการ Block 33 เป็นมิกซ์ยูส ที่จะรองรับทั้งนิสิตของมหาวิทยาลัย-บุคคลภายนอก และพื้นที่สำหรับร้านค้า ตั้งอยู่ติดกับอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มี 3 อาคาร ได้แก่ หอพักนักศึกษา 43 ชั้น คอนโดฯสำหรับบุคคลภายนอก 50 ชั้น รวมทั้ง 2 อาคาร ประมาณ 1,800 ยูนิต และอาคารร้านค้า 7 ชั้นที่อยู่ด้านหน้า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการออกแบบ และจะขออีไอเอเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ คาดว่าตัวโครงการจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี 2565
- เช็กผลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม ส.ก. ใครชนะ เรียลไทม์
- สรุปคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 100% ที่ 2 สุชัชวีร์ เฉือน วิโรจน์ 785 คะแนน
- ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เปิดตัวภรรยา คนที่ 2 ลมใต้ปีกในสนามผู้ว่าฯ กทม.
และโครงการ Siamscape หรือพื้นที่ของอาคารโบนันซ่าเดิม นำมาพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ระหว่างอาคารสำนักงานสมัยใหม่ และพื้นที่รีเทลร้านค้า รวม 24 ชั้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Lifelong Learning แหล่งเรียนรู้ที่รองรับตั้งเด็ก นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงผู้ใหญ่ งบฯลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2563
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังออกแบบให้มีพื้นที่จอดรถรองรับกว่า 700 คัน รองรับการพัฒนาพื้นที่ของสยามสแควร์ให้เป็นถนนคนเดิน หรือ walking street ภายใต้โครงการ The New Siam Square 2020 ที่จะทำให้ย่านนี้เป็นแหล่งรวมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ตลอดจนเป้าหมายของการผลักดันให้ย่านนี้เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ
“พื้นที่เชิงพาณิชย์ของเรามีอยู่ประมาณ 291 ไร่ กำลังเดินหน้าพัฒนาตามแผนที่วางเอาไว้ทีละสเต็ป โดยในช่วง 1-3 ปีนี้ จะโฟกัสไปที่ 3 โครงการนี้ หลังจากนี้จะเห็นการเข้ามาร่วมลงทุนของเอกชน และพันธมิตรมากขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนที่ผ่อนคลายลง”
รศ.ดร.วิศณุกล่าวว่า สำหรับแผนระยะกลาง เตรียมจะดึงเอกชนเข้ามาร่วมทุนในโครงการ Block 34 ซึ่งจะพัฒนาขึ้นเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาล หรือศูนย์สุขภาพที่เน้นด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ บนพื้นที่ 12 ไร่ บริเวณ ซ.จุฬาลงกรณ์ 9 ใกล้กับอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ปัจจุบันเปิดให้มีมาร์เก็ตซาวน์ดิ้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนอยู่ และคาดว่าจะสามารถส่งแผนให้สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบในช่วงปลายปี ก่อนที่จะเปิดให้ภาคเอกชนขอยื่นทีโออาร์ได้ประมาณต้นปีหน้า
เร็ว ๆ นี้ยังจะมีการปรับปรุงอาคารสยามกิตติ์ (สยามสแควร์ซอย 7) ให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาพื้นที่เดิม คือการทำเป็นมิกซ์ยูสระหว่างรีเทลและโรงแรม โดยจะทำการต่อเติมในส่วนของโรงแรมเพิ่มขึ้นไปจากเดิมอีก 24 ชั้น จากปัจจุบันมี 10 ชั้น เป็นพื้นที่ของร้านอาหาร ร้านค้า สถาบันกวดวิชา ฯลฯ และในอนาคตจะย้ายโรงเรียนกวดวิชาไปอยู่ในโครงการ Siamscape แทน และกำลังพิจารณาว่าจะหาแม็กเนตอะไรมาเติมในส่วนที่ยังว่างอยู่
อาคารสยามกิตติ์ได้มีการยื่นขออนุญาตเพื่อทำโรงแรมไว้ตั้งแต่แรก และผ่านอีไอเอแล้ว บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนและบริหารธุรกิจโรงแรมก็คือ กลุ่มพรินซิเพิลโรงแรมนี้จะเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว 400 ห้อง
ขณะที่พื้นที่สยามสแควร์เน้นการพัฒนาพื้นที่บริเวณชั้น 2 และ 3 ของตึกแถว ให้เป็นพื้นที่รองรับด้านการบริการมากขึ้น เช่น คลินิกทำฟัน ร้านทำเล็บ ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งทรัพย์สินจุฬาฯมีการปรับให้สัญญาเช่ายืดหยุ่นขึ้น จากเดิมที่ต้องเช่าทั้งตึก ปัจจุบันก็สามารถเช่าเป็นชั้นได้ หรือสามารถพูดคุยกับผู้เช่ารายอื่นที่สนใจเพื่อแมตชิ่งกับผู้เช่าเดิมได้
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!