ชงแก้ส่งมอบพื้นที่แนบท้ายสัญญาให้บอร์ดอีอีซีเคาะมั่นใจ ซี.พี.เซ็น 25 ต.ค.แน่

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าที่ประชุมวันที่ 11 ต.ค.มีมติรับทราบผลการประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการของอีอีซี ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ในประเด็นการปรับแก้สัญญาแนบท้ายที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบพื้นที่ของโครงการแล้ว

โดยกำหนดให้นำผลการปรับแก้ตามที่คณะอนุกรรมการเห็นชอบ รายงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการประชุมครั้งถัดไป

“ที่ใช้เวลาประชุมนานเกือบ 4 ชม. เพราะมีการถกเถียงกันว่า หลังจากคณะอนุกรรมการมีมติปรับแก้การส่งมอบพื้นที่ใหม่ ซึ่งอยู่ในส่วนเอกสารแนบท้ายสัญญาใหม่ บอร์ดคัดเลือกจะสามารถปรับแก้เอกสารแนบท้ายได้หรือไม่ แต่สุดท้ายที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า เมื่อการดำเนินการแบบเดิมคือ ให้เอกชนคุยกับหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคเอง ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะทำให้การดำเนินการของโครงการนี้ฝ่ายรัฐเองก็ลำบาก และฝั่งเอกชนก็เดินต่อไม่ได้ ประกอบกับในทีโออาร์ไม่ได้ห้ามเรื่องการปรับแก้สัญญาแนบท้าย จึงมีมติปรับแก้และเสนอให้ที่ประชุม กพอ.เห็นชอบต่อไป”

ขณะที่การยืนยันเรื่องลงนามในสัญญาวันที่ 25 ต.ค.นี้ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งจำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ฝ่ายรัฐได้กำหนดไปแล้วว่า จะต้องมาลงนามในเวลา 13.30 น. แต่กลุ่ม CPH ยังไม่ได้ตอบรับว่าจะมาลงนามเมื่อไหร่ เชื่อว่ากลุ่ม CPH คงไม่เบี้ยว อาจจะต้องขอเวลาดำเนินการในภาระของตัวเองให้เรียบร้อยก่อน

ด้านการแต่งตั้งคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. (บอร์ดรถไฟ) ชุดใหม่ ตนไม่ทราบและเป็นอำนาจของกระทรวงคมนาคม ส่วนประเด็นติดค้างที่จะต้องให้บอร์ดรถไฟเห็นชอบ ก็เหลือเพียงเรื่องเดียวคือการอนุมัติให้ตนในฐานะรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐลงนามในสัญญาร่วมกับกลุ่ม CPH เท่านั้น