“ขาใหญ่”แบ่งเค้กอีอีซีลงตัว เซ็นไฮสปีด25ต.ค. หมอเสริฐ-BTS ซิวเมืองการบินอู่ตะเภา

แฟ้มภาพ

ขาใหญ่แบ่งเค้กอีอีซี “กัลฟ์-ปตท.” คว้าท่าเรือมาบตาพุด คิวต่อไปเซ็นไฮสปีดซี.พี. 2 แสนล้าน 25 ต.ค. “บิ๊กตู่” เคาะแก้สัญญาส่งมอบพื้นที่ “เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ” ซิวเค้กอู่ตะเภา 50 ปี 2.9 แสนล้าน เสนอรายได้ให้รัฐนับแสนล้าน รอประกาศ 21 ต.ค. กลุ่ม ซี.พี.ลุุ้นคำสั่งศาลรับอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า5 โครงการ มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มี 3 โครงการเริ่มชัดเจน หลังเซ็นสัญญาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มูลค่า 47,900 ล้านบาทกับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ผู้รับสัมปทาน 30 ปี เป็นโครงการแรกวันที่ 1 ต.ค. 2562

ในวันที่ 25 ต.ค. เป็นคิวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท จะเซ็นสัญญา กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งจำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH)ผู้ชนะ 117,227 ล้านบาท สัมปทาน 50 ปี

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(เครือ ซี.พี.) กล่าวว่า กลุ่ม ซี.พี.จะเซ็นสัญญา 25 ต.ค.นี้แน่นอน ส่วนข้อตกลงต้องให้คณะกรรมการคัดเลือกชี้แจง สำหรับการส่งมอบพื้นที่ ถ้าเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ก็พร้อมให้ความร่วมมือรวมถึงเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ใน 1 ปี 3 เดือนที่รัฐต้องส่งให้ 86% ด้วย

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกมีมติรับทราบผลประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการอีอีซีมีนายอุตตมสาวนายน รมว.การคลังเป็นประธาน จะปรับแก้สัญญาแนบท้ายส่งมอบพื้นที่ 3 เฟส ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ส่งมอบทันที ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ใน 1 ปี 3 เดือน และช่วงพญาไท-ดอนเมือง ใน 2 ปี 3 เดือน เพราะทีโออาร์ไม่ได้ห้าม จะรายงานคณะกรรมการอีอีซีวันที่ 16 ต.ค. 2562

รายงานข่าวแจ้งว่า การแนบเวลาส่งมอบพื้นที่ในท้ายสัญญาต้องดูให้รัดกุม เพราะอาจจะเปิดช่องให้กลุ่ม ซี.พี.เรียกค่าเชดเชยได้ นอกจากการขยายเวลาให้แล้ว หากรัฐส่งมอบไม่ทัน 1 ปี 3 เดือน และใน 2 ปี 3 เดือน

สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 6,500 ไร่ มูลค่า 2.9 แสนล้าน ให้เอกชนลงทุน PPP net cost  50 ปี จะประกาศผู้ชนะวันที่ 21 ต.ค.นี้ ทั้งนี้รอศาลปกครองด้วยว่าจะมีคำสั่งกรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ด้วย

รายงานข่าวจากอีอีซีแจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกเปิดซองราคาของกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS มี บมจ.
การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ และกลุ่มแกรนด์คอนเซอร์เตียม มี บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้และมี บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็นกับ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น

“ทั้ง 2 กลุ่มเสนอผลตอบแทนให้รัฐเกินทีโออาร์  59,224 ล้านบาท และเกิน 1 แสนล้านบาท แต่กลุ่มบีทีเอสให้รัฐมากสุดเป็นหลักแสนล้านบาท ต่อไปจะเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่มบีทีเอส จะสรุปผล พ.ย.และเซ็นสัญญา ม.ค. 2563”

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่ากลุ่มบีทีเอสเป็นผู้เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด เพราะมั่นใจในโครงการ จึงให้ผลตอบแทนรัฐอย่างเต็มที่ ทั้งนี้แม้ได้ผู้ชนะแต่ยังเดินหน้าไม่ได้ติดส่งมอบพื้นที่ เพราะอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของรันเวย์ที่ 2 จะใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ทางกองทัพเรือพร้อมส่งมอบพื้นที่ในปี 2564