สัมภาษณ์พิเศษ
เรียกว่าไม่พลิกโผชื่อ “ปฐม เฉลยวาเรศ” ได้นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมทางหลวงชนบทคนที่ 9 สมใจในยุค “พรรคภูมิใจไทย” คุมกระทรวงคมนาคม หลังผิดหวังอยู่หลายครั้ง
เส้นทางของ “อธิบดีปฐม” วัย 57 ปี เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผ่านหลักสูตรนักปกครองระดับสูง สถาบันดำรงราชานุภาพ (นปส.รุ่นที่ 56) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศหลักสูตร วปอ.รุ่นที่ 54
เป็นลูกหม้อกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนจะแยกมาเป็นกรมทางหลวงชนบท เส้นทางชีวิตข้าราชการเติบโตมาตามสายงาน จนเมื่อปี 2562 ได้เป็นรองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ก่อนจะได้ขึ้นเป็นใหญ่รับไม้ต่อ “กฤชเทพ สิมลี” ที่เกษียณ
ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทเพิ่งจะครบรอบ 17 ปี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา มีถนนในความรับผิดชอบทั่วประเทศ 3,267 สายทาง ระยะทางรวม 47,960 กม. นับว่าเป็นกรมเกรดเอเป็นที่หมายปองของนักการเมืองทุกยุค ด้วยโครงการก่อสร้างถนนที่เป็นผลงานจับต้องได้ และมีงบประมาณผ่านมือปีละกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท
ว่าที่อธิบดีป้ายแดงเปิดเผยว่า ภารกิจจะต้องดำเนินการ เร่งงานเก่าของปี 2562 ที่กรมได้รับงบประมาณ 46,786 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายได้ตามเป้า ขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 40,865 ล้านบาท หรือ 87.35% พร้อมเร่งประมูลโครงการใหม่ เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ขอรับการสนับสนุนจำนวน 48,005 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบฯซ่อมบูรณะกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นงบฯโครงการใหม่และผูกพัน
อาทิ โครงการถนนลูกรังจะทำเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต 439 โครงการ ระยะทาง 843.9 กม. สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ 140 โครงการ ถนนแก้ไขปัญหาการจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค ถนนตามแนวผังเมืองรวม ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว โครงข่ายพัฒนาชายแดนภาคใต้ ถนนเชื่อมระบบขนส่ง สนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
โครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาทางหลวงชนบทริมทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช-พัทลุง-สงขลา ถนนเพื่อการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถนนสายแยก ทล.4003 (กม.ที่ 14+350) ถึงบ้านท้องเกร็ง อำเภอสวี, ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ระยะทาง 9.085 กม. และถนนสายแยก ทล.4002 กม.ที่ 13+100-บ้านแหลมสันติ อำเภอหลังสวน, ละแม จ.ชุมพร ระยะทาง 19.891 กม. ถนนผังเมืองรวม ถนนสาย จ4 และ จ5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ระยะทาง 3.222 กม. และถนนสาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ ระยะทาง 7.425 กม.
“งบปี’63 ไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ของบฯเพื่อเริ่มต้นโครงการ ศึกษา สำรวจการเวนคืนที่ดิน เช่น ศึกษาความเหมาะสมถนนรอบริมทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง ระยะทาง 208 กม. เริ่มสร้างปี 2564 สำรวจการเวนคืนที่ดินโครงการส่วนต่อขยายถนนกัลปพฤกษ์-ถนนพุทธสาคร ระยะทาง 13.6 กม. โครงการต่อเชื่อมสะพานนนทบุรี 1ถึงวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก ระยะทาง 3.829 กม. เร่งโครงการไทยแลนด์ริเวียร่าเฟส 2 จากชุมพร-สงขลา 578 กม. เป็นต้น โครงการลงทุนใหญ่ ๆ คาดว่าจะขอจัดสรรในปี 2564 ที่จะขอจัดสรรงบฯแบบบาลานซ์กันมากขึ้นระหว่างงบฯซ่อมบำรุงทางกับงบฯลงทุน”
นอกจากนี้เตรียมรับมืออุทกภัยภาคใต้ที่จะเกิดฝนตกหนักตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ เช่น เตรียมสะพานแบลีย์และคนพร้อมช่วยเหลือประชาชน เร่งช่อมแซมถนนที่เสียหายจากอุทภัยภาคอีสานและภาคเหนือ วงเงิน 908.38 ล้านบาท ในพื้นที่ 11 จังหวัด ประกอบด้วยเชียงใหม่ พิจิตร พิษณุโลก มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร สุโขทัย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มีทั้งซ่อมสร้างผิวทาง ไหล่ทาง คันทาง ถนนขาด สะพานขาด ตอนนี้รอการอนุมัติงบฯจากสำนักงบประมาณ เพื่อให้งานเสร็จเร็วจะซอยงานเป็นหลายสัญญา ค่าก่อสร้างตั้งแต่ระดับแสนบาทถึงหลักล้านบาท และยังเตรียมของบฯกลางมาดำเนินการเพิ่มอีก 200 กว่าล้านบาท
นายปฐมกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วนที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบให้ดำเนินการคือ การเพิ่มมูลค่ายางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กรมได้เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานบำรุงรักษาทางและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยมากขึ้น โดยนำยางพาราแผ่นมาเป็นส่วนผสมจากเดิม 5% จะเพิ่มเป็น 15-20% เนื่องจากยางพาราแผ่นจะซับน้ำยางได้ถึง 8 ตันของน้ำยางข้น
“ถ้าสูตรนี้สำเร็จจะช่วยชาวสวนยางได้มากขึ้น แต่กรมห่วงเรื่องคุณภาพ จะคุยกับ มอก.ออกรับรองมาตรฐานให้ผู้ประกอบการผลิตยางนำสูตรที่เราคิดนี้ไปผลิตและนำมาใช้ต่อไป ตั้งเป้าจะเริ่มใช้ในโครงการในปี 2563 อย่างไรก็ตาม เรามีโครงการที่จะสนับสนุนยางพาราอยู่แล้ว คาดว่าจะใช้น้ำยางสด 25,000 ตัน และน้ำยางข้น 12,000 ตัน”
ที่ผ่านมากรมได้ติดตั้งเสาหลักนำทางเป็นต้นแบบ prototype แล้วที่จังหวัดตรัง รวมถึงแบริเออร์แบบ single slope barrier หุ้มด้วยยางพาราหนา 2 นิ้ว ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ สามารถลดแรงกระแทกเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% และคาดว่าจะลดความรุนแรงของอัตราการบาดเจ็บลงได้ และโครงการก่อสร้างถนนใหม่ในปี 2563 จะสร้างเป็นถนน 4 เลน เกาะสี จะเปลี่ยนเกาะกลางเป็นแบร์ริเออร์หุ้มยางพาราหมด จะตอบโจทย์นโยบายวิ่งเลนขวาด้วยความเร็ว 120 กม./ชม.
“ได้รับการบ้านจากท่านรัฐมนตรี ให้เร่งแก้รถติดบนถนนราชพฤกษ์-ถนนสาทร ช่วงแยกสวนเลียบถึงเชิงสะพานตากสินฝั่งถนนสาทร จะตีช่องจราจรใหม่จากฝั่งละ 3 เลน เป็น 4 เลน เป็น 8 ช่องจราจร จะบูรณาการร่วมกับ กทม.และตำรวจจราจร ในการปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกัน คาดว่าจะเริ่มได้ในเร็ว ๆ นี้”
ว่าที่อธิบดีกรมทางหลวงชนบทยังแย้มภายในเดือน ธ.ค.นี้จะมีโครงการก่อสร้างถนนแล้วเสร็จมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับประชาชน มีโครงการขยายถนนราชพฤกษ์เป็น 10 เลน ช่วงสุดท้ายช่วงถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 ระยะทาง 8.367 กม. สร้างเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้จะเสร็จในต้นปี 2563 และโครงการขยายถนนกัลปพฤกษ์ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์บริเวณสวนเลียบ ระยะทาง 7.602 กม. จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร