“ถาวร” ควง “จุรินทร์” ล่องใต้ดูจุดก่อสร้าง “สนามบินพังงา” ลดแออัดภูเก็ต

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2562นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมรับฟังบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ร่วมประชุม

เนื่องจากท่าอากาศยานถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบการขนส่งทางอากาศ ในการก่อสร้างท่าอากาศยานต้องใช้เงินลงทุนสูง นอกจากนี้ยังมีค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อดำเนินการให้เป็นตามมาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย

โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ โดยแบ่งกลุ่มท่าอากาศยานในประเทศไทยออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อกำหนดบทบาทและแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลางหลัก ท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง ท่าอากาศยานระดับภาค และท่าอากาศยานระดับจังหวัดเพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางพัฒนาท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบันและก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับท่าอากาศยานภูเก็ต บริหารงานโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) สามารถรองรับผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศโดยมีเที่ยวบินทั้งแบบประจำและไม่ประจำรองรับเที่ยวบินเพื่อธุรกิจเที่ยวบินเพื่อการฝึกเที่ยวบินการบินไทยทางทหารและเที่ยวบินในวัตถุประสงค์อื่น ๆ

สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ที่สุดคือ B747-400 มีจำนวนทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง รองรับด้วยทางขับอากาศยานขนานจำนวน 1 ทางขับ และทางขับอากาศยานเชื่อมต่อกับทางวิ่งจำนวน 7 ทางขับ ทำให้ท่าอากาศยานภูเก็ตสามารถรองรับอากาศยานได้สูงสุด 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อาคารผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี โดยรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศได้ 9,000 คนต่อชั่วโมง ในปี 2561 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 18 ล้านคน มีเที่ยวบินจำนวน 118,136 เที่ยวบิน

ทั้วนี้มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จึงเพิ่มขีดความสามารถได้เท่าที่พื้นที่มีอยู่ ไม่สามารถขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคตเนื่องจากมีข้อจำกัดในการขยายทางวิ่ง จำเป็นต้องหาพื้นที่การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

จากการศึกษาพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่บริการและใกล้เคียงท่าอากาศยานภูเก็ตพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมมากที่สุดในการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 คือบริเวณตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื่องจากขนาดพื้นที่มีความเหมาะสม รวมทั้งมีระยะทางห่างจากท่าอากาศยานภูเก็ตเพียง 23 กิโลเมตร

และมีโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งทางถนนและทางราง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางสุราษฎร์ธานี – พังงา – ภูเก็ต โครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา) เป็นต้น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตและพังงาได้อย่างสะดวก ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 25 ล้านคนต่อปี


โดยนายจุรินทร์ ได้มอบให้ นายถาวร เสนเนียม หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างท่าอากาศยานพังงาระหว่างกรมท่าอากาศยาน และ ทอท. พร้อมทั้งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาติดตามและรายงานเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป