โรดแมปไฮสปีด 3.6 แสนล. CP ปั้น “มักกะสัน” โกลบอลเกตเวย์

“ศุภชัย เจียรวนนท์” แม่ทัพ ซี.พี.เปิดโรดแม็ปลงทุน 3.6 แสนล้าน ลุยไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน พลิกมักกะสัน 140 ไร่ “โกลบอลเกตเวย์อีอีซี” ผุดมิกซ์ยูสใหญ่สุด 2 ล้าน ตร.ม. แซง “วัน แบงค็อก” กลุ่มเจ้าสัวเจริญ เนรมิตศูนย์การค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ ดึงทุนไทย-เทศ แจมเดินรถ พัฒนาที่ดิน ลดสัดส่วนถือหุ้นหลังสร้างเสร็จจาก 70% เหลือ 40% แบ่งงาน “ITD-ช.การช่าง-CRCC” ก่อสร้างโครงสร้าง วางราง จีบญี่ปุ่นจัดหาระบบรถแลกเจบิกปล่อยกู้ ดบ.ต่ำ FS จากอิตาลีรับโอเปอเรต เร่งตอกเข็ม เปิดใช้ปี”66

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เมกะโปรเจ็กต์แรกของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ฤกษ์เซ็นสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) จัดตั้งขึ้นใหม่ มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 หลังล่าช้าเกือบ 1 ปีเต็ม แต่หลังเซ็นสัญญากลุ่ม CPH ยืนยันว่าจะเร่งสปีดออกแบบก่อสร้าง ควบคู่กับกางโรดแมปพัฒนาที่ดินทำเลทองบริเวณสถานีมักกะสัน และศรีราชา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ ทำให้การลงทุนโครงการไฮสปีดอีอีซีมีความคุ้มค่าในการลงทุน

บิ๊กตู่ปลื้มเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กล่าวว่า ดีใจกับความก้าวหน้าโครงการ หลังรัฐบาลผลักดันมาโดยตลอด 2 ปี ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ยังไม่จบ เซ็นสัญญาไม่ได้ มาถึงรัฐบาลนี้จึงสานต่อโครงการต่อเนื่องจนเซ็นสัญญาได้ จุดมุ่งหมายต้องมองอนาคตข้างหน้า ซึ่งอาจจะไม่เร็วนัก เพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญคือจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ การเพิ่มพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพราะทุกสถานีที่รถไฟความเร็วสูงจอดให้บริการจะมีโอกาสจะเติบโต โดยการทำระบบคมนาคมเชื่อมกับระบบ เช่น ถนน ระบบราง เป็นต้น

“การลงทุนของโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุน PPP ระหว่างรัฐและเอกชนกว่า 2 แสนล้านบาท การลงนามในสัญญาครั้งนี้ถือว่าเป็นการนับหนึ่งเพื่อเริ่มก่อสร้าง มีหลายฝ่ายร่วมมือกัน ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะเชื่อมโยง 3 สนามบิน แต่จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นด้วย เป็นการวางรากฐานของประเทศไปสู่อนาคต และเป็นโครงการร่วมลงทุน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น” 

เปิดตัวพันธมิตรร่วมลงทุน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่ม ซี.พี.) เปิดเผยว่า หลังใช้เวลาเตรียมความพร้อมก่อนเข้าประมูลไม่ต่ำกว่า 2 ปี และใช้เวลาเจรจาต่อรองกับรัฐอีก 11 เดือน รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศที่เอกชนร่วมลงทุน PPP กับรัฐ ผลักดันการก่อสร้างโครงการใหญ่ระดับนานาชาติได้สำเร็จ

โครงการนี้ ซี.พี.มีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากไทยและต่างประเทศมาช่วย ได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จัดตั้ง บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม3 สนามบิน เป็นตัวแทนลงนามร่วมทุนโครงการ

อีก 1 ปีตอกเข็มเร่งเสร็จ 5 ปี

“หลังเซ็นสัญญาจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทที่ตั้งขึ้นมา ลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบ เจรจาผู้รับเหมาก่อสร้าง ซัพพลายเออร์ และเร่งทำแผนก่อสร้างเพื่อเดินหน้าโครงการ ตามกรอบเวลาที่เป็นเงื่อนไขในสัญญา แบ่งพื้นที่ก่อสร้าง 3 ส่วน จะเริ่มงานก่อสร้างไม่เกิน 12 เดือน หรืออย่างช้า 24 เดือนนับจากนี้”

พื้นที่เริ่มเร็วสุดช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ จะปรับปรุงโครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิมให้รับรถไฟความเร็วสูง ส่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาเป็นพื้นที่ก่อสร้างยาวที่สุด และช่วงดอนเมือง-พญาไทจะเป็นส่วนที่ยากที่สุด ความท้าทายต่างกัน เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย จะทำเต็มที่และสร้างให้เสร็จใน 5 ปี เพราะยิ่งเสร็จเร็วยิ่งดี คาดว่าจะเปิดบริการปี 2566 จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี และกระจายความเจริญสู่ภาคตะวันออกตามมาหลังเปิดบริการ ตนมั่นใจว่าจากความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของพันธมิตร ทั้ง ช.การช่าง และอิตาเลียนไทยฯที่เชี่ยวชาญงานโยธา ส่วน CRCC จากจีน เชี่ยวชาญการวางระบบราง และบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง ส่วน บจ.Ferrovie dello Stato Italiane (FS) บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี จะเป็นผู้โอเปอเรตโครงการให้ ส่วนระบบรถยังไม่สรุปจะใช้ของประเทศไหน แต่คงเดาได้ไม่ยากต้องมาจากพันธมิตร มีทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป

“เอกชนกลัวที่สุดคือความเสี่ยง เพราะต้องร่วมลงทุนกว่าแสนล้าน ถ้าขาดทุนจะไม่ใช่เฉพาะเงินลงทุนแสนล้านบาทที่หายไป จะต้องระดมจากธนาคารเข้ามาช่วยอีกมาก ก็ศึกษาอย่างละเอียด และมีความเชื่อมั่นว่าจะสำเร็จได้ ซึ่งเป็นงานหินมาก เป็น PPP โครงการแรกมีขนาดใหญ่ และเป็นโมเดลให้กับโครงการอื่นต่อไป”

ทุ่มลงทุน 3.6 แสนล้าน

นายศุภชัยกล่าวว่า สำหรับการลงทุนคาดว่าจะใช้เงินลงทุนร่วม 3.6 แสนล้านบาท แยกเป็นส่วนรถไฟความเร็วสูงประมาณ 2.2 แสนล้านบาท พัฒนาสถานีมักกะสัน 1.4 แสนล้านบาท แหล่งเงินทุนมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการโครงการ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย

“การกู้เงินมีทั้งเป็นสกุลเงินบาทหากเป็นการลงทุนในประเทศ หากนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีจากต่างประเทศจะกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงใน 2.2 แสนล้านใช้ลงทุน 6 ปี แบ่งเป็นงานโยธา 65-70% และระบบ 30-35% จะทยอยกู้ตามแผนงานก่อสร้าง และการส่งมอบพื้นที่”

ส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) จะเริ่มสถานีมักกะสัน 140 ไร่ เป็นลำดับแรก ใช้เงินลงทุน 140,000 ล้านบาท พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2 ล้านตารางเมตร เช่น ค้าปลีก โรมแรม ที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยด้านรถไฟ พื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจเชื่อมใจกลางกรุงเทพฯไปยังอีอีซี รองรับผู้ใช้บริการรถไฟ นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ขณะนี้มีหลายประเทศสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนอสังหาฯ

“เงินลงทุนสถานีมักกะสันจะมาจากเงินกู้และระดมทุนจากพันธมิตรแต่ละส่วน เพราะแบ่งเป็นโซนนิ่ง มีบริษัท แมกโนเลียฯ มาช่วยด้านออกแบบมาสเตอร์แพลนให้ ตั้งเป้าให้มักกะสันเป็นทำเลที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับโครงการและกรุงเทพฯ ใครมาถึงเมืองไทยจะต้องมาที่นี่ อาจจะมีออฟฟิศ ส่วนหนึ่งจะเป็นตลาดของนักท่องเที่ยว เช่น คอมเมอร์เชียล และจะเปลี่ยนภูมิทัศน์โดยรอบ”

ปั้นมักกะสันโกลบอลเกตเวย์

แหล่งข่าวจากอีอีซีกล่าวว่า พื้นที่มักกะสันทาง ซี.พี.เสนอเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท นับว่าสูงกว่าทีโออาร์กำหนดไว้ 42,000 ล้านบาท พื้นที่ 850,000 ตร.ม. หากแล้วเสร็จจะเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งการพัฒนาน่าจะเริ่มพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รอ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ซึ่ง ซี.พี.เสนอสถานีมักกะสันเป็น “โกลบอลเกตเวย์” เป็นการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก จากเดิมรัฐกำหนดเป็น “เกตเวย์อีอีซี”

“ซี.พี.ต้องลงทุนพัฒนาหลายอย่างตรงมักกะสัน ทั้งระบบสาธารณูปโภค แก้ปัญหาการเข้า-ออก ได้แนะให้ ซี.พี.สร้างเทอร์มินอลใหม่ และสร้างทางเข้า-ออกเพิ่ม มีอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมจากอาคารไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี และมีระบบขนส่งเป็นชัตเติลบัสวิ่งภายในโครงการ เช่น รถไฟฟ้าระบบไลต์เรล อยู่ที่เอกชนจะพัฒนา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการมิกซ์ยูสของ ซี.พี.หากพัฒนาเสร็จ คาดว่าจะมีขนาดพื้นที่ใช้สอยมากกว่า “โครงการวัน แบ็งคอก” ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บนถนนวิทยุ 104 ไร่ ซึ่งตามแผนจะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท พื้นที่รวม 1.83 ล้าน ตร.ม. ประกอบด้วย พื้นที่สันทนาการกลางแจ้ง พื้นที่รีเทลและไลฟ์สไตล์ โรงแรม คอนโดมิเนียม จะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2566

เปิดทางพันธมิตรใหม่ร่วมทุน

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า หลังเริ่มก่อสร้างไปแล้ว ทาง ซี.พี.อาจจะลดสัดส่วนการลงทุนจาก 70% ลง เปิดทางให้พันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วมลงทุน เช่น การเดินรถ การพัฒนาอสังหาฯ ฯลฯ แต่ในช่วงก่อสร้าง ซี.พี.จะถือไว้ไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อให้มีอำนาจตัดสินใจให้โครงการแล้วเสร็จทันเวลา และเมื่อสร้างเสร็จอาจจะถือไว้ไม่ต่ำกว่า 40% จากนั้นเมื่อเปิดบริการมีรายได้ อาจจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ท้าทาย “ถ้าคนที่ไม่คุ้นเคยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะรู้สึกว่าเสี่ยง ถ้าคนคุ้นเคยจะรู้สึกว่าไปได้ เป็นการลงทุนระยะยาว”

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวเพิ่มเติมว่า บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท จะมีการแต่งตั้งคณะผู้บริหาร คาดว่าจะตั้ง นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ จากเครือ ซี.พี. เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท

สำหรับพันธมิตรใหม่ที่ ซี.พี.จะดึงมาร่วมลงทุน คาดว่าจะกลุ่มเดียวกับที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เช่น JOIN หรือองค์กรความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการพัฒนาเมืองในต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น, บจ.ซิติกกรุ๊ป จากจีน, บจ.ไชน่า รีเสิร์ช (โฮลดิ้งส์) จากจีน, บจ.ซีเมนส์ จากเยอรมนี, บจ.ฮุนได จากเกาหลี, บจ.FS จากอิตาลี, บจ.CRRC-Sifang ผู้ผลิตระบบรถไฟความเร็วสูงจากจีน

จับตาใช้ระบบรถไฟญี่ปุ่น

นอกจากนี้อาจมีบริษัท ฮิตาชิ ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงจากญี่ปุ่น ที่ ซี.พี.กำลังเจรจานำระบบมาใช้ในโครงการ เพราะเจบิกจะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สำหรับเงินลงทุนงานระบบ ซึ่งระบบฮิตาชิเป็นระบบเปิดกว้างสามารถเชื่อมกับรถไฟไทย-จีนได้ ขณะที่จีนได้งานก่อสร้างระบบรางไปแล้ว

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ กล่าวว่า ซี.พี.ได้แบ่งงานแล้ว มี 3 บริษัทจะทำสัญญาก่อสร้างกับ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน มูลค่างานประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ได้แก่ อิตาเลียนไทย ช.การช่าง และ CRCC และจะใช้บริษัทออกแบบจากทั่วโลก 10 บริษัท มาออกแบบโครงการ มั่นใจว่าจะสร้างเสร็จตามแผน

จ่ายเงินอุดหนุนตามการเปิดใช้ ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ในอนาคตอีอีซีมีแผนจะนำมาบริษัทที่ลงทุนโครงการนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ต้องให้โครงการมีรายได้ระดับหนึ่งก่อน สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุน 117,227 ล้านบาท จะทยอยจ่ายตามการเปิดเดินรถ เพราะปัจจุบันโครงการแบ่งสร้างเป็นช่วง

ขณะที่นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จะออก NTP เริ่มงานไม่เกิน 2 ปี ทั้งส่วนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่มักกะสันและศรีราชา จากนั้น ซี.พี.จึงจะจ่ายเงินส่วนต่าง ๆ ให้รัฐ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ส่วนค่าใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท อยู่ที่เอกชน แต่ทยอยจ่ายได้ใน 2 ปี เนื่องจาก ซี.พี.จะต้องทำแผนเรื่องปรับปรุง จัดซื้อรถใหม่เพิ่มเติม

“เป็นวันแรกของการเริ่มต้นการทำงานตามสัญญา 50 ปี หลังจากนี้มีอะไรต้องทำร่วมกันอีกมาก เพราะต้องลงรายละเอียดในเนื้องานของโครงการจริง ๆ เช่น ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ย้ายผู้บุกรุก เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ใน 2 ปี ในเร็ว ๆ นี้ พ.ร.ฎ.จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ” นายวรวุฒิกล่าว