“ศักดิ์สยาม” แย้มไทย-พม่าเตรียมศึกษาผุด ”สะพานมิตรภาพแห่งที่3” รับค้าชายแดนพุ่ง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 30 ต.ค. 2562 เป็นวันแรกเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่2 บริเวณแม่น้ำเมย-ตองยิน จะทดแทนสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ที่มีอายุการใช้งานที่นาน 22 ปี ทำให้มีสภาพเก่า พื้นที่อาคารพรมแดนมีขนาดเล็ก ทำให้รถขนส่งสินค้าต้องใช้เวลาในการรอข้ามเป็นเวลานาน บางครั้งใช้เวลารอถึง 4-5 ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนขนส่งสูง

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือการเชื่อมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเมียนมา ซึ่งตามข้อตกลงการข้ามแดนรถสินค้าของไทยสามารถข้ามผ่านไปถึงเมืองย่างกุ้ง มีระยะทาง 280 กิโมตร ท่าเรือทิลาวา ในประเทศเมียนมา ในทำนองเดียวกันรถบรรทุกจากเมียนมาสามารถวิ่งผ่านไปยังกรุงเทพฯและท่าเรือแหลมฉบัง”

จะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา สูงขึ้นจากปี2561 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเศรษฐกิจชายแดนด่านแม่สอดจะเติบโตขึ้น22% จากปัจจุบันมีมูลค่า 76,000ล้านบาทต่อปีเป็น100,000ล้านบาท ต่อปี มีรถวิ่งข้ามแดนเพิ่ม 10%จาก 230,000 คันต่อปี

ส่วนค่าธรรมเนียมผ่านด่านจะเก็บเท่ากับที่ด่านแม่สอดแห่งที่1 ขณะนี้รอออกกฎกระทรวง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจะออกประกาศบังคับใช้ได้ ทั้งนี้สะพานแห่งที่2นี้จะมีขีดความสามารถรองรับการค้าชายแดนแม่สอดไปได้อีก 10 ปี
และทางไทยและเมียนมามีการหารือร่วมกันจะศึกษาโครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่3

สำหรับสะพานแห่งที่2 กรมทางหลวงได้รับการอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างสะพาน ถนนเชื่อมต่อฝั่งไทยและถนนเชื่อมต่อฝั่งเมียนมา อาคารด่านฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา รวมทั้งค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฝั่งไทย วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานฝั่งไทยจำนวน 2,900 ล้านบาท และค่างานฝั่งเมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท

และในปี 2560 ครม.ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีก 232 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฝั่งไทยและค่าก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่ง เพื่อปรับรูปแบบด้านสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ รวมงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการทั้งสิ้น 4,132 ล้านบาท

โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในส่วนของค่าก่อสร้างสะพาน ถนน และอาคารด่านพรมแดนในฝั่งเมียนมา

 

สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 นอกจากจะแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของประเทศไทยและประเทศเมียนมาที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว ยังช่วยเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเส้นหลักของอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อม 4 ประเทศเข้าด้วยกัน ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม