ชำแหละดอกเบี้ยรถไฟฟ้าสายสีส้ม “รัฐกู้สร้างเอง” ถูกกว่าเอกชน 6 พันล้าน

หลัง 2 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.กระทรวงคมนาคม ออกมากระพือจะรื้อการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ ถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปจะรวมหรือจะแยก สำหรับการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วง “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอจะพ่วงสัมปทานเดินรถตลอดสายจากบางขุนนนท์-มีนบุรี เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost เป็นแพ็กเกจภายใต้สัญญาเดียว

ทั้งก่อสร้าง จัดหาระบบ ขบวนรถ เดินรถและซ่อมบำรุง 30 ปี วงเงิน 122,041 ล้านบาท โดยรัฐจ่ายคืนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 10 ปี หลังเปิดบริการ

โปรเจ็กต์นี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มือเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.แล้ว รอ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติโครงการให้ รฟม.เปิดประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ในรอบแรกติด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

แต่สุดท้ายต้องมาสะดุดบนโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หลังมีความเห็นต่าง

โดยโฟกัสการให้เอกชนลงทุนค่างานโยธาส่วนตะวันตกและรัฐชำระคืนให้ 10 ปี ตามที่ รฟม.เสนอ มีความแตกต่างจากรูปแบบการก่อสร้างช่วงตะวันออกที่ รฟม.แบ่งสร้าง 6 สัญญาและต่างจากระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว ที่สำคัญอาจจะทำให้รัฐมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น

ขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการ แต่มีข้อสังเกตว่าวิธีนี้จะทำให้รัฐมีภาระทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย 40,000 ล้านบาท หากรัฐจำเป็นต้องชำระคืนค่าดอกเบี้ยให้อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี บวก 1 และการกำหนดกรอบวงเงินชำระคืนไม่ควรรวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดด้วย

เมื่อไร้ข้อยุติ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน มอบ “รองนายกฯอนุทิน” ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณารูปแบบที่เหมาะสม ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อภาระการเงินของรัฐ และอัตราผลตอบแทนยังมอบ รฟม. และกระทรวงคมนาคมหารือสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและทำข้อมูลเปรียบเทียบค่าก่อสร้างแต่ละประเภท เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตามขั้นตอนต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ข้อมูลเปรียบเทียบภาระดอกเบี้ยเงินกู้สายสีส้ม ระหว่างรัฐและเอกชนจะมีวงเงินห่างกัน 14,000 ล้านบาท หากเอกชนกู้จะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% จะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐกู้อัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิน 2.5% จะอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท หากเป็นเอกชนรายใหญ่มีศักยภาพจะทำให้กู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอีกไม่เกิน 3% จะอยู่ที่กว่า 31,000 ล้านบาท จะต่างจากที่รัฐกู้ 6,000 ล้านบาท

อยู่ที่นโยบายการเงินการคลัง “รัฐบาลประยุทธ์ 2” จะเคาะแบบก่อหนี้ในทันทีและแบ่งสร้างหลายสัญญาแทนการจ้างรายเดียว หรือจะผ่อนชำระระยะยาว แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็เสี่ยงหมด จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง