ขยายสัมปทานBTSยาว30ปี แลกหนี้แสนล้าน-เก็บค่าตั๋ว15-65บาท

ครม.เศรษฐกิจไฟเขียวขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอสอีก 30 ปี นับหนึ่งปี 2572-2602 แลกล้างหนี้ กทม.แสนล้าน เก็บค่าตั๋ว 15-65 บาท รอ ครม.ชุดใหญ่เคาะ พ.ย.นี้ ดีเดย์ ธ.ค.เปิดเพิ่ม 4 สถานี ห้าแยกลาดพร้าว-ม.เกษตรฯ

กอบ​ศักดิ์ ภูต​ระ​กู​ล

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า วันที่ 1 พ.ย. 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจรับทราบการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ แล้วตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา และได้เห็นชอบถึงกระบวนการเจรจาทั้งหมดได้กระทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกขั้นตอนและอัยการสูงสุดได้ยืนยันทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้วตามที่กระทรวงมหาดไทยและ กทม. รายงานให้ทราบ

ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลที่กระทรวงมหาดไทยและ กทม.นำมาสรุปในวันนี้ได้ เนื่องจากต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและรอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขยายสถานีสะพานตากสินที่บีทีเอสลงทุน 1,400 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติปลายเดือน พ.ย.นี้ ถึงจะนำสัญญาสัมปทานเสนอให้ ครม.เห็นชอบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า กระทรวงมหาดไทยและ กทม.เสนอให้ ครม.เศรษฐกิจขยายระยะเวลาสัมปทานให้บีทีเอสจากปัจจุบันที่จะสิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ออกไปอีก 30 ปี รวมเป็น 40 ปี สิ้นสุดในปี 2602 โดยเก็บค่าโดยสารตามโครงสร้างใหม่ เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 65 บาทตลอดสาย ขณะที่ภาระหนี้ของ กทม. 7 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่เข้าสู่การเจรจาจะทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องรับภาระหนี้ให้ กทม.

ผลของการเจรจามีข้อดี คือ 1.เกิดการบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ และราคาค่าโดยสารถูกลง 2.ลดภาระหนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท 3.รายได้ที่ กทม.จะได้รับหากขยายสัมปทานไปจนจบปี 2602 จากเดิมปี 2572 โดยร่างสัญญาแบ่งอัตรารายได้ให้กับ กทม.เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได คิดเป็นมูลค่าตลอดสัมปทาน 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งภาครัฐกทม.และประชาชนได้ประโยชน์

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ผลเจรจา กทม.และบีทีเอสจะร่วมทุนกันรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี วงเงินกว่า 1.1 แสนล้านบาท บีทีเอสจะร่วมลงทุนงานระบบกว่า 20,000 ล้านบาท รับภาระหนี้แทน กทม.ในทันทีหลังเซ็นสัญญา มีงานโยธาส่วนต่อขยาย 2 ช่วง วงเงิน 60,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 10,000 ล้านบาท การขาดทุนจากการดำเนินการงานส่วนต่อขยาย 10 ปี วงเงิน 21,133 ล้านบาท เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานเส้นทางหลักที่บีทีเอสยังเหลือ 10 ปี โดยได้รับการขยายสัญญาออกไปอีก 30 ปี นับจากสัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 2572

ส่วนต่อขยายทั้งช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า, แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งปัจจุบัน กทม.สัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถจะสิ้นสุดพร้อมกับสัมปทานเดิม จากนั้นจะนำทั้งสายทางหลักและส่วนต่อขยายมารวมเป็นสัมปทานเดียวกัน และเริ่มต้นสัมปทานใหม่นับหนึ่งวันที่ 5 ธ.ค. 2572 ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2602 ส่วนค่าโดยสารจะปรับทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

“หาก ครม.อนุมัติจะเซ็นสัญญาและเริ่มเก็บค่าโดยสารใหม่ในทันที จากปัจจุบันที่บีทีเอสเปิดให้ใช้ฟรีช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว ยังไม่รู้ว่าจะทันกับการเปิดใช้ส่วนต่อขยายจะเปิดไปถึง ม.เกษตรฯ วันที่ 4 ธ.ค.นี้หรือไม่”