ซี.พี.อัพเกรด “แอร์พอร์ตลิงก์” “ซื้อรถใหม่-รื้อระบบ” หมื่นล้านรับไฮสปีด

ยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียว “กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร” ผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะเข้าพื้นที่พร้อมส่งมอบในทันทีช่วง “สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ” หรือแอร์พอร์ตลิงก์เดิมเลยหรือไม่

เพราะต้องควักเงิน 10,671 ล้านบาท จ่ายค่าใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ ระยะเวลา 50 ปี ให้ครบก่อนถึงจะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงระบบให้รองรับกับรถไฟความเร็วสูง

รวมถึงทำแผนการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ในปัจจุบันใหม่ด้วย ยังไม่รู้จะต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหนในการยกเครื่องการบริการ ว่ากันว่าอาจจะเฉียดหมื่นล้าน

กำลังรอดูทรัพย์สินที่รับมอบมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่ว่าจะเป็นรถ 9 ขบวน อะไหล่อุปกรณ์ต่าง ๆ สถานี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานี จะสมบูรณ์ 100% สักแค่ไหน

ขณะที่ในทีโออาร์กำหนดสามารถชำระได้ใน 2 ปี อยู่ที่การตัดสินใจของกลุ่ม ซี.พี.จะจ่ายเลยหรือรอเวลาไปอีก 1-2 ปี หลังเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562

ด้าน “ศุภชัย เจียรวนนท์” บอสใหญ่กลุ่ม ซี.พี. ย้ำชัดในวันเซ็นสัญญายังไม่จ่ายเงินในทันที เพราะการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ในทีโออาร์มีกำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจน

ขณะที่ “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกมาระบุว่า กลุ่ม ซี.พี.จะต้องทำแผนให้พิจารณาภายใน 3 เดือนหลังเซ็นสัญญา

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากจ่ายค่าเดินรถ 10,671 ล้านบาท จะต้องลงทุนอีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างประเมินค่าใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงระบบเครื่องกลและรถไฟฟ้าการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เดิมให้รองรับกับระบบรถไฟความเร็วสูง เพราะต้องใช้โครงสร้างร่วมกัน เช่น ยกระดับแพลตฟอร์มทางเดินชานชาลาสูงเท่ากับชานชาลาของรถไฟความเร็วสูง และมีบางสถานีจะต้องตัดพื้นที่สถานีออกประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งการปรับปรุงจะต้องดำเนินการนอกเวลาให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ในช่วงเวลา 24.00-05.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบการเดินรถ

ขณะเดียวกันยังรวมถึงการซ่อมบำรุงแอร์พอร์ตลิงก์เดิม และอาจจะต้องมีการขยายชานชาลาสถานีที่มักกะสันเป็นสถานีจอดให้รับกับขบวนรถที่นำมาวิ่งด้วย และยังต้องปรับปรุงพื้นที่ อุปกรณ์ภายในสถานี และซื้อรถขบวนใหม่ที่จะมาวิ่งบริการในแอร์พอร์ตลิงก์ เพิ่มประสิทธิภาพให้รองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะสถานีมักกะสันที่จะเป็นประตูสู่พื้นที่อีอีซี จะต้องใช้พื้นที่สถานีให้เต็มประสิทธิภาพ

“รถขบวนใหม่ที่จะนำมาวิ่งบริการเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์เดิมกับขบวนรถไฟความเร็วสูง ยังไม่ได้เลือกว่าจะใช้ระบบของประเทศไหน แต่มีแนวโน้มจะใช้ตามแหล่งเงินกู้ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ตอนนี้มีไจก้าพร้อมจะปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หากใช้รถไฟความเร็วสูงของฮิตาชิ  ส่วนการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ทาง CRCC กับ BEM เป็นผู้ดูแลดำเนินการ ยังไม่รู้ว่าจะใช้รถจีนหรือซีเมนส์”

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ญ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามแผนจะต้องส่งมอบแอร์พอร์ตลิงก์ให้กลุ่ม ซี.พี.ใน 2 ปี ช้าสุดวันที่ 24 ต.ค. 2564 อยู่ที่เอกชนจะจ่ายเงินครบเมื่อไหร่ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างสำรวจสินทรัพย์และทรัพย์สินของระบบแอร์พอร์ตลิงก์ทั้งหมด เพื่อเตรียมส่งมอบให้กลุ่ม ซี.พี.เดินรถต่อไป จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

“รถทั้ง 9 ขบวนมีอายุการใช้งาน 30 ปี ต้องซ่อมบำรุงใหญ่ระยะทาง 3.6 ล้านกิโลเมตร ในปี 2565 จากปัจจุบันมีระยะวิ่ง 2.4 ล้านกิโลเมตร และจะมีซ่อมใหญ่ในปีที่ 15 แต่ทุกปีมีเตรียมเงินลงทุน 300-400 ล้านบาท ซ่อมบำรุงและซื้ออะไหล่ที่ถึงรอบต้องเปลี่ยนเมื่อครบ 4 ปี เช่น ขอบยางประตูรถ เพื่อประคับประคองการเดินรถให้สมบูรณ์ ก่อนส่งต่อให้กับเอกชนรายใหม่”

นายสุเทพกล่าวอีกว่า ก่อนส่งมอบต้องมีการประชุมร่วมกับกลุ่ม ซี.พี.ที่จะมารับงานต่อ เพื่อทำแผนการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ จะดูในรายละเอียดว่ามีรายการอะไหล่ไหนที่ต้องรอนาน หรือสามารถทำก่อนและหลังได้

รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อเพิ่มผู้โดยสาร ปัจจุบันผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 90,000 เที่ยวคนต่อวัน เช่น ปรับปรุงตู้ขนสัมภาระ ซื้อรถขบวนใหม่ 7 ขบวน เนื่องจากรถ 9 ขบวนในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90,000 เที่ยวคนต่อวัน หรือรองรับได้อีก 1 ปีกว่า ๆ เท่านั้น อยู่ที่เอกชนรายใหม่จะบริหารจัดการ ซึ่งการซื้อรถใหม่สามารถนำรถที่ผลิตจากจีนและยุโรปมาวิ่งบริการได้ ก่อนหน้านี้บริษัทเคยจะซื้อรถใหม่จากบริษัท CRCC จากจีนกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ยกเลิกการประมูลไป

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ทั้ง ร.ฟ.ท.และบริษัทลูกควรวางแผนในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้เอกชนคู่สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จัดเตรียมบุคลากรเข้ามาดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ในการเตรียมความพร้อมในการเดินรถเสมือนจริง ก่อนส่งมอบธุรกิจตามแผนงาน


ตอนนี้ยังเดาใจ “ซี.พี.” ไม่ออกว่าจะยอมทุ่มเงิน 10,671 ล้านบาท เพื่อเข้าบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เดิมไปพลาง ๆ ก่อน เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ค่าโดยสารที่ตอนนี้รายได้เติบโตขึ้นเฉลี่ยวันละ 3 ล้านบาท เป็นการฆ่าเวลาไปก่อนทุ่มเงินอีกก้อนใหญ่ เพื่อยกเครื่องการเดินรถทั้งพวง แลกกับสัมปทานเดินรถ 50 ปี