ซี.พี.เจรจา “จีน-ญี่ปุ่น” ปล่อยกู้ไฮสปีดไม่หวั่นถูกค้านหวนคืนประมูล “เมืองการบินอู่ตะเภา”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่ม ซี.พี.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่สรุปถึงแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและญี่ปุ่น คิดว่าอาจจะต่อรองกันอีก 6 เดือน เพราะสัญญามีเงื่อนไขเยอะ

แต่ในหลักการใหญ่ๆ ทั้ง 2 ประเทศค่อนข้างพอใจกับตัวสัญญาที่จะเข้ามาช่วย และเป็นไปตามลักษณะของโครงการ เช่น งานโยธาใช้วัสดุภายในประเทศจะกู้เป็นเงินบาท ส่วนระบบเทคโนโลยีและหัวรถจักร จะใช้เงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งแบบก่อสร้าง ตอนนี้ร่างขั้นต้นเสร็จแล้ว เหลือขั้นตอนด้านวิศวกรรมอีกบางส่วน อีก 1-2 เดือนจะแล้วเสร็จ

ส่วนการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ถือหุ้นสูงสุด 75% สามารถปรับเปลี่ยนได้ และในทีโออาร์ระบุให้ถือหุ้น 51% จนก่อสร้างโครงการเสร็จ และต้องถือ 40% ขึ้นไปตลอดอายุโครงการ

“ดังนั้น ซี.พี.ต้องถือในสัดส่วนเยอะอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอ 12 ข้อที่อยู่นอกเงื่อนไขทีโออาร์ ไม่มีการนำเสนอแล้ว ยื่นตามสัญญา ด้านการฟอร์มทีมบริษัทใหม่ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะจริงๆ ก็มีทีมเดิมที่ทำอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องขยายทีมเพิ่ม”

ขณะที่แผนการโอนรับสิทธิ์เดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ ยังอยู่ในช่วงประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพราะต้องสำรวจทรัพย์สินต่างๆ ก่อน อยู่ในช่วงทำแผน ส่วนจะจ่ายค่าใช้สิทธิ์ 10,671 ล้านบาทไปก่อนหรือไม่นั้น ยังอยู่ในตารางเวลาสัญญา

นายศุภชัยกล่าวถึงกรณีผู้ร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และกลุ่มกลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม นำโดย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จะยื่นคัดค้านการกลับเข้าประมูลของกลุ่ม ซี.พี. เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมนั้น


ส่วนตัวคิดว่าก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ ส่วนของอีก 2 กลุ่มตนไม่รู้ และไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรที่เสนอไปแล้วไม่ได้ สุดท้ายใครชนะก็เหมือนกัน ขอให้เดินหน้าโครงการให้สำเร็จเพื่อประโยชน์ของประเทศ