การรถไฟฯขอ 3 พันล้าน พิสูจน์ฝีมือบริหาร “สายสีแดง” ดัน “บริษัทลูก” เดินรถ ม.ค. 64

จากรถไฟฟ้าสายแรก “แอร์พอร์ตเรลลิงก์” วิ่งจากพญาไท-สุวรรณภูมิ ที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้บริหารโครงการผ่าน “บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายนี้จะถูกโอนสิทธิ์เดินรถไปอยู่อ้อมอก “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-พญาไท-สุวรรณภูมิ)

ล่าสุด “ร.ฟ.ท.” กำลังมีภารกิจใหม่สุดท้าทายในการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทางรวมกว่า 41 กม. ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กม. และช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. นับเป็นสายที่ 2 ของ ร.ฟ.ท.หลังทุ่มเม็ดเงินก่อสร้างไปทะลุแสนล้านบาท

ขณะนี้กำลังรอการอนุมัติจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” ให้บริษัทลูกเป็นผู้เดินรถพร้อมกับเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นบริหารรถไฟฟ้าสายนี้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่อนุมัติไว้เมื่อรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายใต้เงื่อนไข ร.ฟ.ท.ต้องพิสูจน์ฝีมือว่าจะบริหารโครงการได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ซ้ำรอยแอร์พอร์ตเรลลิงก์

ในแผนบริษัทลูก ร.ฟ.ท.นอกจากเดินรถแล้ว จะต้องดำเนินกิจการทางพาณิชย์เพื่อชดเชยรายได้จากค่าโดยสารที่ใน 5 ปีแรกจะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากเงินทุนตั้งต้นส่วนหนึ่งเพื่อนำมาเป็นเงินลงทุนจัดซื้ออะไหล่เริ่มต้น จำนวน 2,164 ล้านบาท และส่วนอื่นเป็นกระแสเงินสดสำหรับใช้ในการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังเปิดดำเนินการ เช่น งบประมาณการตลาด ประชาสัมพันธ์ จ้างพนักงานชั่วคราวในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเร่งด่วน

ด้วยการจัดเก็บรายได้จากพื้นที่บริเวณใต้สถานี กิจกรรมด้านการเก็บค่าโฆษณา การให้เช่าพื้นที่ การบริการที่จอดรถ และการให้เช่าพื้นที่สำหรับตู้ ATM และเพิ่มรายได้จากการคิดอัตราค่าใช้พื้นที่จากบริเวณจุดตัดและทางเชื่อมเข้าอาคาร การให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อดำเนินการจัดหารายได้เชิงพาณิชย์ในรูปแบบการให้สัมปทาน

หากเดินตามแนวทางนี้จะทำให้รายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ในช่วง 5 ปีแรก เพิ่มขึ้นประมาณ 152 ล้านบาท หรือหากคิดเป็นตลอดอายุโครงการ 30 ปี จะเพิ่มรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 18 ล้านบาท ทำให้ผลประกอบการในช่วง 5 ปีแรกมีการขาดทุนน้อยลง และผลตอบแทนโครงการในภาพรวมดีขึ้น มีผลประกอบการเป็นบวกในปีที่ 9

ซึ่งบริษัทลูกจะได้สิทธิบริหารพื้นที่ภายในขบวนรถไฟ พื้นที่ตามแนวเขตทาง บริเวณสถานีรถไฟและศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการ มีสถานีรังสิต หลักหก การเคหะ หลักสี่ ทุ่งสองห้อง บางเขน วัดเสมียนนารี จตุจักร บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน โดยได้สิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในบริเวณสถานี ทั้งบริเวณชานชาลา ชั้นขายตั๋วโดยสารและที่จอดรถ ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อและดอนเมือง

แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ “กระทรวงคมนาคม” อยู่ใต้อาณัติของพรรคภูมิใจไทย ทำให้แผนสะดุดหยุดอยู่ที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคนใหม่ ที่เกิดไอเดียจะเปิดให้เอกชนมาเดินรถแทนบริษัทลูก อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล จะสรุปแนวทางชัดเจนปลายปีนี้

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน ระหว่างตั้ง “บริษัทลูก ร.ฟ.ท.” และ “เปิดสัมปทานเอกชน” ที่ในประเทศไทยมี 2 ราย คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะต้องเร่งดำเนินการให้ทันกับการเปิดใช้บริการในเดือน ม.ค. 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยังยืนยันภายในเดือน ม.ค. 2564 จะเปิดบริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอย่างแน่นอน จะเก็บค่าโดยสาร15-45 บาท ลดลงจากราคาที่กำหนดไว้เดิม 15-50 บาท

“การเดินรถ รอผลสรุปที่มอบนโยบายให้คมนาคมไปดูโมเดลเปิดให้เอกชนร่วม PPP กับให้บริษัทลูก ร.ฟ.ท.ตามแบบเดิม แบบใดเหมาะสมและประชาชนได้ประโยชน์มากกว่ากัน น่าจะสรุปและเสนอ ครม.ได้ปลายปีนี้ ส่วนพนักงานและบุคลากรอยู่ระหว่างฝึกอบรม เบื้องต้นจะเป็นการโอนรับพนักงานจากแอร์พอร์ตลิงก์มาก่อน” นายศักดิ์สยามกล่าว

ด้านการเตรียมความพร้อมการเปิดบริการ “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ขบวนรถที่รับมอบมาชุดแรก 2 ขบวน จำนวน 10 ตู้ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้สัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และการจัดหาตู้รถไฟฟ้า) มูลค่างาน 32,399.99 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) จากประเทศญี่ปุ่น เป็นคู่สัญญา

ขบวนรถไฟจะมี 2 แบบ คือ แบบ 6 ตู้/ขบวน มีความกว้าง 2.86 ม. ยาว 121.2 ม. จุผู้โดยสารได้ 1,710 คน/เที่ยว จะนำมาวิ่งช่วงบางซื่อ-รังสิตเป็นหลัก กับแบบ 4 ตู้/ขบวน มีความกว้าง 2.86 ม. ยาว 81.2 จุผู้โดยสารได้ 1,120 คน/เที่ยว จะนำมาวิ่งช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรถทั้ง 25 ขบวน จำนวน 130 คัน จะทยอยมาครบกลางปี 2563

“รถขบวนใหม่ที่มาถึงแล้วจะทดสอบการบังคับเดินหน้าถอยหลังในศูนย์ซ่อมบำรุงของโครงการ เมื่อรถมาครบแล้วถึงจะเริ่มทดสอบแบบ dynamic test โดยระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณจะติดตั้งแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณกลางปี 2563 จึงนำขบวนรถว่างทดสอบระบบบนโครงสร้างของโครงการ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จะเปิดให้บริการ ม.ค. 2564 คาดมีผู้โดยสารทั้ง 2 ช่วงรวมกันอยู่ที่ 200,000 เที่ยวคน/วัน”

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ สัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้า 91.11% สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต แล้วเสร็จ 100% และสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าคืบหน้า 62.40%

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เรื่องการขยายเวลาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อออกไปถึงต้นปีหน้า และขออนุมัติขยายกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นกว่า 9,000 ล้านบาท จากการปรับแบบและงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ผู้รับเหมาขอค่าชดเชยจากการขยายเวลาก่อสร้าง ปัจจุบันนำเงินส่วนที่ยังเหลืออยู่มาดำเนินการไปก่อนเพื่อไม่ให้งานก่อสร้างล่าช้า