105 ปี “ประปาไทย” ยกระดับก้าวไกลสู่สากล

กว่าจะมีวันนี้ วันที่ “กิจการประปาฯ” ถือกำเนิดมายาวนานกว่า 105 ปี ย้อนกลับไปตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นยุคแห่งการพัฒนาความเจริญ และคุณภาพชีวิตที่ดีของราษฎร พระองค์ทรงห่วงใยสุขอนามัยของราษฎรที่เสียชีวิตจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด จึงมีพระราชดำริจัดตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2448 เพื่อดำเนินการผลิตน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองจนสะอาด พร้อมพระราชทานชื่อเรียกว่า “ประปา” มาจากคำสันสกฤต แปลว่า “ที่เก็บน้ำ”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเปิดกิจการประปากรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 และได้มีการตราพระราชบัญญัติการประปานครหลวง (กปน.) พ.ศ. 2510 ด้วยการรวมกิจการประปา 4 แห่งเข้าด้วยกัน ได้แก่ การประปากรุงเทพฯ

การประปาเทศบาลธนบุรี การประปาเทศบาลสมุทรปราการ และการประปานนทบุรี พร้อมก่อตั้ง “การประปานครหลวง (กปน.)” ขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2510 มีภารกิจในการผลิตน้ำประปาสะอาดปลอดภัย มีคุณภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้บริการประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน ใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กปน. ได้พัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำ สถานีสูบจ่ายน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ และท่อส่งน้ำ เพื่อบริการน้ำประปาสะอาดปลอดภัยจากโรงงานผลิตน้ำไปยังบ้านเรือนประชาชน ปัจจุบันมีโรงงานผลิตน้ำรวม 4 แห่ง คือ โรงงานผลิตน้ำบางเขน โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ โรงงานผลิตน้ำสามเสน และโรงงานผลิตน้ำธนบุรี มีกำลังการผลิตน้ำทั้งสิ้น 6.72 ล้านลูกบาศก์เมตร/ วัน

ปัจจุบัน กปน. เร่งเดินหน้า “สร้างเสถียรภาพในการให้บริการ” ด้วยการดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์เพื่อสร้างโครงข่ายความมั่นคงในการให้บริการน้ำประปา พร้อมรองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 42,750 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) โครงการขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้นวันละ 800,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

2) โครงการขยายระบบอุโมงค์ส่งน้ำลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 4 เส้นทาง ความยาวรวม 44 กิโลเมตร เพื่อสร้างเสถียรภาพในการส่งน้ำประปาทดแทนระหว่างกันในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และบรรเทาผลกระทบหากแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำดิบด้อยคุณภาพรุกล้ำถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล ทำให้ประชาชนได้รับน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยอย่างเพียงพอและทั่วถึง

3) โครงการก่อสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำแห่งใหม่ และถังเก็บน้ำใสเพิ่มเติมตามสถานีสูบจ่ายน้ำต่าง ๆ รวมถึงโครงการวางท่อประปาขนาดต่างๆ เพื่อขยายระบบจ่ายน้ำ และทำให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาอย่างทั่วถึงพร้อมกับแรงดันที่ดีขึ้น

กปน. ยังมีโครงการ “เปลี่ยนท่อประปาใหม่” ระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ทดแทนท่อประปาเดิมที่ใกล้ครบอายุการใช้งานที่อาจชำรุดแตกรั่ว ซึ่งเมื่อทำการเปลี่ยนเป็นท่อประปาใหม่แล้ว นอกจากประชาชนจะมีน้ำประปาสะอาดปลอดภัย พร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยแรงน้ำที่ไหลแรงขึ้น ไม่ต้องหยุดจ่ายน้ำเพื่อซ่อมท่อประปาบ่อย ๆ ลดปัญหาการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นระหว่างการซ่อมท่อประปา อีกทั้ง ยังช่วยรักษาทรัพยากรน้ำอันมีค่าที่สูญเสียไปจากท่อแตกรั่วจำนวนมาก อีกด้วย

ทางด้าน “คุณภาพของน้ำประปา” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ กปน. ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพน้ำประปา สะอาด ปลอดภัย ตามมาตรฐานน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan : WSP) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ โรงงานผลิตน้ำ ไปจนถึงบ้านผู้ใช้น้ำ มีการเก็บตัวอย่างน้ำจากก๊อกน้ำประปาปีละกว่า 3,000 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำด้านกายภาพ เคมี จุลชีวะ

ในห้องปฏิบัติการพิเศษที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ทั้งยังมีโครงการ “นักวิทย์ชุดขาว” ลงพื้นที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากระบบท่อถังพักน้ำและก๊อกน้ำ พร้อมให้คำแนะนำการควบคุมคุณภาพน้ำภายในบ้านเรือน ชุมชน หรือสถานประกอบการ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ปัจจุบันคุณภาพของน้ำประปาที่ผลิตโดย กปน. มีคุณภาพดีกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) สะอาด ปลอดภัยสามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของประชาชนได้อย่างปลอดภัย

ทางด้าน “การให้บริการ” กปน. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ยุคไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาช่องทางการให้บริการระบบดิจิทัลที่หลากหลาย อาทิ แอปพลิเคชัน MWA onMobile ระบบ e-Service ของ กปน. การขอติดตั้งประปาใหม่ทางอินเทอร์เน็ต การเพิ่มช่องทางการชำระค่าน้ำประปาออนไลน์ ผ่านบัตรเครดิต ตู้รับชำระเงินอัตโนมัติ (Kiosk) ช่องทาง Online Banking ของธนาคารต่าง ๆ และบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการติดต่อที่สะดวกรวดเร็ว พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทาง Facebook Twitter Instagram Youtube และ Line@ ภายใต้ชื่อเดียวกันว่า @MWAthailand อีกด้วย

นับเป็นเวลากว่า 105 ปี ที่มีการพัฒนากิจการประปาไทยอย่างไม่หยุดนิ่ง กปน. พร้อมเดินหน้าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจ และสังคมไทย ด้วยการมุ่งมั่นผลิตและสูบจ่ายน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) “Change for Better CARE” คือ กปน. พัฒนาและปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน เพื่อมอบสิ่งที่ดีกว่าให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำ (C = Customers) สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน (A = Appreciation) ด้วยการตอบสนองที่ทันท่วงทีรวดเร็ว (R = Response & Rapid) และทุกการดำเนินงานของเรา จะสร้างประโยชน์ที่แท้จริง (E=Effectiveness) ต่อประชาชนและประเทศชาติ อย่างเท่าเทียม (E=Equal) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (E=Environment)