นิวคัมเมอร์ “สาระ ล่ำซำ” เปิดหน้าไพ่ MTL ลงทุนอสังหาฯ

บิ๊กเพลเยอร์รายล่าสุดของล่าสุดที่เปิดตัวเข้ามาลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “ป้อง-สาระ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL

โดยคว้าที่ดินผืนงาม 4 ไร่ ทำเลประชิดกับบิ๊กโปรเจ็กต์อย่างทรู ดิจิตอล ปาร์ค โซนอุดมสุข อยู่ปากซอยสุขุมวิท 66 ลงทุนสำนักงานให้เช่าสูง 28 ชั้น แบรนด์ใหม่ “66 Tower”

มูลค่าโครงการรวมที่ดิน 3,800 ล้านบาท ตั้งเป้าก่อสร้างเป็นสำนักงานเกรด A แต่มีค่าเช่า 850 บาท/ตารางเมตร/เดือน พื้นที่เช่า 30,000 ตารางเมตร และมีสกายวอล์กเชื่อมกับรถไฟฟ้า BTS อีกด้วย

ซูเปอร์แบรนด์อย่าง MTL ประกาศตัวเป็นดีเวลอปเปอร์ทั้งทีย่อมมาแบบฟอร์มใหญ่เป็นธรรมดา จูงมือพันธมิตรธุรกิจแถวหน้าเดินไปด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบหลัก “บริษัท ปาล์มเมอร์ แอนด์ เทอร์เนอร์ (ประเทศไทย)” ผู้รับเหมาก่อสร้างรับผิดชอบโดย “บริษัท ฤทธา จำกัด” ผู้บริหารงานขายโครงการ “บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย)” เป็นต้น

ปัจจุบัน 66 Tower เริ่มการก่อสร้างแล้ว 15% ตั้งเป้าเปิดบริการภายในไตรมาส 2/64 เมื่อถึงตอนนั้น ตั้งเป้าดึงดูดผู้เช่าบริษัทข้ามชาติ ตลอดจนมนุษย์ออฟฟิศคนรุ่นใหม่

“…หลายคนอาจจะเห็นว่าผมเป็นคนหน้าใหม่ as a developer ธุรกิจหลักผมเป็นบริษัทประกันชีวิต การมาลงทุนตรงนี้เป็นเรื่องความยั่งยืนในการทำธุรกิจระยะยาว”

ก่อนหน้านี้ ในยุคแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส MTL ซื้ออาคารเมืองไทยภัทรมาบริหารต่อด้วยมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาท

66 Tower จึงเป็นโปรเจ็กต์ที่สองที่เริ่มลงทุนอย่างจริงจัง

CEO MTL บอกว่าแทบไม่มีความจำเป็นเรื่องแหล่งทุน “…เราไม่ต้องพึ่งฟันดิ้งจากข้างนอก เราเป็น own funding ได้” การลงทุนจึง no need โมเดล JV-joint venture

มูลค่า 3,800 ล้านคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของ invested asset เทียบกับภาพรวม 500,000 ล้านบาทในพอร์ตบริษัท แปลว่ายังลงทุนอสังหาฯได้อีกเยอะ

มองลอดแว่นไปถึงแผนธุรกิจระยะ 3-5 ปี เฉลี่ยอยากเห็นการลงทุนปีละ 2 โครงการ มูลค่ากลม ๆ อยู่ที่ 10,000 ล้านบวกลบ รูปแบบเป็นไปได้ทั้งดีล M&A (ซื้อกิจการ) และลงทุนสร้างใหม่แบบ ground zero…เหมือนกับ 66 Tower

“การลงทุนพร็อพเพอร์ตี้ขออนุญาตไม่บอกตัวเลข (หัวเราะ) แต่ตอบโจทย์ในเรื่องการทำธุรกิจยุคนี้ต้องมี protection”

คำถามมีอยู่ว่าสนใจทำโครงการมิกซ์ยูสหรือเปล่า คำตอบคือถ้ามีโอกาสที่ดีก็ทำ

“เทรนด์นี้ไม่ใช่เทรนด์ใหม่ จริง ๆ แล้วธุรกิจประกันชีวิตทำกันมาอยู่แล้วอย่างพาร์ตเนอร์ของเรา Ageas เขาทำพร็อพเพอร์ตี้หลายเรื่องมาก ก็ส่งทีมมาช่วย แชร์โนว์ฮาว นอกเหนือจากใช้ professional advisor”

ขณะเดียวกัน มีดีล M&A เข้าคิวอีกเพียบ แม้ไม่ยอมบอกว่ากี่สิบโครงการก็ตาม

“เราดูไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีเข้ามาเราก็เข้าไปดู บางอันเป็นแค่พื้นที่เฉย ๆ คำนวณยีลด์แล้วมัน make sense นะ หรือมีข้อจำกัดอื่น ๆ อันนี้มันบียอนด์ อาจจะ sensitive soft issues เราไม่อยากเข้าไปยุ่งในเรื่องพวกนี้ ก็ no deal”

โมเดลธุรกิจที่สนใจเป็นพิเศษคือเอจจิ้งลิฟวิ่งหรือเวลเนสโปรเจ็กต์ “พี่ถามอะไรชอบใจผมมาก เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากเรื่องฟาซิลิตี้ยูส เรามีอีกทีมหนึ่งที่ศึกษาอยู่ และมาคอนเน็กต์กันกับทีมที่ทำด้านพร็อพเพอร์ตี้”

มุมคิดที่น่าสนใจที่สุดคือกลุ่มเป้าหมายเวลเนส ไม่ได้มองลูกค้าลักเซอรี่ แต่เลือกไปโฟกัสกลุ่มมิดเดิลอินคัม คนทำงานออฟฟิศหรือไวต์คอลลาร์

“ลักเซอรี่เกินไปไทมิ่งตอนนี้อาจไม่ใช่ ลักเซอรี่จริง ๆ เขาก็มีอะไรของเขาเยอะอยู่แล้ว ผมคิดว่าเป็นไปได้ที่เราจะโฟกัส middle อาจจะเมกเซนส์กว่า”

สุดท้าย ภาพจำอสังหาฯ ที่ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภค

“ถ้าลองสังเกตดู ทุกอันผมไม่ได้เรียกว่าตึกเมืองไทย ผมกลัวจะไปคิดว่าเป็นบริษัทประกัน ในภาพผมเรียกว่า unbranded ที่ไม่เกี่ยวกับเมืองไทยประกันชีวิต …อย่างน้อยในเรื่องความเชื่อมั่นผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และในความเป็นเมืองไทยประกันชีวิตผมว่ามีความแข็งแกร่งอยู่ในตัว นี่คือภาพออกมา”